ครม.สัญจร ไฟเขียว 'EEC Visa' ถือครองวีซ่าได้สูงสุด10 ปี เสียภาษี 17%
ครม.สัญจร ไฟเขียว EEC Visa ถือครองวีซ่าได้สูงสุด10 ปี เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคงที่ 17% พร้อมปรับปรุงรายละเอียด EECD หวังดึงการลงทุนเข้าประเทศมากขึ้น
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (14 พฤษภาคม 2567) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาภาคตะวันออก เกี่ยวกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ EEC Visa แนวทางการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ
สำหรับ EEC Visa นั้น ประเภท คุณสมบัติ และสิทธิประโยชน์ โดยสรุป มีรายละเอียดคือ ผู้ที่สามารถได้รับวีซ่าดังกล่าวมีอยู่ 4 ประเภทด้วยกันได้แก่ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ (Specialist “S”) ผู้บริหาร (Exeutive “E”) ผู้ชำนาญการ (Professional “P”) และคู่สมรส และบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ (Other “O”)
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิที่จะได้รับ EEC Visa เช่น ต้องเป็นผู้ที่มีสัญญาจ้างกับผู้ประกอบกิจการหรือมีสัญญากับบุคคลอื่นที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ต้องได้รับการรับรองคุณสมบัติจากผู้ประกอบกิจการ ฯลฯ
สิทธิประโยชน์จากการได้รับ EEC Visa เช่น มีสิทธิในการเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรตามจำนวน และระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ กพอ.สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้ ต้องไม่เกินระยะเวลาตามสัญญาจ้างสำหรับใช้เข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยประทับตราขาเข้า และอนุญาตให้เข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรในครั้งแรกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี มีสิทธิในการนำคู่สมรส และบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรตามความจำเป็น และเหมาะสม และมีสิทธิในการได้รับการลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราคงที่ร้อยละ 17
สกพอ.แจ้งว่า การดำเนินการ EEC Visa และการให้สิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 จะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ คือ ส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้ามาประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในเขต EEC และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม มีการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการที่มีศักยภาพสูง
รวมทั้งก่อให้เกิดรายได้แก่ ภาครัฐ โดยคนต่างด้าวที่ยื่นขอ EEC Visa หรือยื่นขอเปลี่ยนประเภท Visa เป็น EEC Visa ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตรา 10,000/บาท/คน/ปี และในการขอรับใบอนุญาตทำงาน EEC Work Permit ต้องชำระค่าบริการในอัตรา 20,000 บาท/คน/ครั้ง โดยคาดว่ามีคนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายตามที่กำหนด และประสงค์จะใช้สิทธิ EEC Visa โดยคาดการณ์ 10 ปีแรก ของการดำเนินการประมาณ 149,388 คน
สำหรับการปรับแนวทางดำเนินการโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (โครงการ EECd) โดยนำออกจากการดำเนินการภายใต้ประกาศ กพอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.2560 (ประกาศ กพอ. หลักเกณฑ์ฯ) ตามมติ กพอ. ในการประชุม ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยให้ สกพอ. พิจารณาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขต EEC อย่างรอบคอบ โปร่งใส และเป็นธรรม รวมทั้งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อย่างเคร่งครัดด้วย
และให้ สกพอ. บีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางในการเชื่อมโยงข้อมูลของนักลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน เพื่อให้มีการจัดทำ และเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพรวมทั้งให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการบูรณาการ การทำงานของศูนย์บริการนักลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันร่วมด้วย ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวให้คำนึงถึงหลักความประหยัด คุ้มค่า มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์