การพบกันระหว่าง รมว.คลัง-ผู้ว่าแบงก์ชาติ
เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาอย่างมากในหลายเรื่อง ดังนั้นการพบกันของ รมว.คลัง และ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ครั้งนี้ หากหยิบยกปมปัญหาและความกังวลของทั้งสององค์กรมาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ไปจนถึงจับมือกันทำงานด้วยความโปร่งใส อย่างน้อยก็อาจทำให้ปัญหาเศรษฐกิจไทยเริ่มมีทางออก
ในวันนี้(15พ.ค.) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” จะเดินทางกลับจากการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดเร็วๆ นี้ “เศรษฐพุฒิ” น่าจะมีโอกาสได้พบกับ “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ อย่างเป็นทางการ เพื่อหารือประเด็นเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศอย่างมากในเวลานี้
ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเป็นปัญหาอย่างมาก โดยช่วงโควิดไทยโดนผลกระทบหนักจากวิกฤติครั้งนั้น แม้ว่าเราจะผ่านโควิดมาพักใหญ่แล้ว แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่งกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดเท่านั้น ขณะที่หลายประเทศขยายตัวไปไกลกว่าไทยค่อนข้างมาก ที่สำคัญมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังดูมัวหมอง แบงก์ชาติประเมินการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้เพียง 2.6% หั่นลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ 3.2% นับเป็นการหั่นประมาณการลงค่อนข้างมาก เหนืออื่นใดเงินเฟ้อของไทยก็ยังไต่ขอบติดลบมาต่อเนื่อง
เราเห็นความพยายามของฝั่งรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งใช้เม็ดเงินขนาดใหญ่กว่า 5 แสนล้านบาท แน่นอนว่าเงินส่วนหนึ่งต้องกู้ ซึ่งทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น อีกทั้งมาตรการนี้ยังมีคำถามเรื่องประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เต็มที่คงช่วยกระตุ้นแค่ระยะสั้นหลังจากนั้นจะค่อยๆ มอดลง ในฝั่งของแบงก์ชาติเองก็กลัวว่า ถ้ามีมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตแล้วแบงก์ชาติยังลดดอกเบี้ยลงมาอีก จะยิ่งกระตุ้นให้หนี้สินของประเทศทั้งหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจนกดทับประเทศได้
เราเห็นว่าการพบกันของ “รมว.คลัง” คนใหม่กับผู้ว่าการแบงก์ชาติในครั้งนี้ ควรหยิบยกปมปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะข้อกังวลของแต่ละฝ่ายมาหารือร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เข้าใจว่ากระทรวงการคลังมีวาระเศรษฐกิจที่ต้องเร่งแก้ไข ขณะที่แบงก์ชาติเองก็มีข้อกังวลของตัวเอง เราอยากเห็นสองหน่วยงานเปิดใจเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปมใหญ่ของประเทศ อย่างน้อยอยากให้คิดถึงประชาชน โดยเฉพาะคนกลุ่มกลางล่างที่เวลานี้ยังลำบากหนักจากพิษเศรษฐกิจ
แต่แน่นอนว่าการทำงานร่วมกันระหว่าง “คลัง” กับ “แบงก์ชาติ” ควรต้องอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อประเทศ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญไปกว่านั้นควรต้องให้เกียรติระหว่างองค์กร ไม่เช่นนั้นแต่ละคนก็จะทำนโยบายบนความทิฐิ สุดท้ายคนที่เดือนร้อนและโดนผลกระทบหนักสุดคือประชาชนตาดำๆ นั่นเอง