ประเทศไทยต้องการ "ปฏิรูปเศรษฐกิจ" ไม่ไช่กระตุ้นเศรษฐกิจ
สองอาทิตย์ก่อนผมได้รับบทความ "Thailand Needs Economic Reform, Not Economic Stimulus" เขียนโดย ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ วอร์ร (Peter Warr) มหาวิทยาลัยเเห่งชาติออสเตรเลีย
ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้ตัองการการปฏิรูปเศรษฐกิจถ้าจะให้เศรษฐกิจเติบโต ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลพยายามทํา ซึ่งน่าสนใจมาก วันนี้จึงขอเขียนถึงบทความนี้และให้ความเห็นของผมว่าทําไมการปฏิรูปเศรษฐกิจในบ้านเราจึงยากและยังไม่เกิดขึ้น
บทความ ประเทศไทยต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจ ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นบทความเผยแพร่โดยสถาบัน ISEAS Yusof Ishak Institute ประเทศสิงคโปร์ ปลายเดือนที่แล้ว ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวตํ่ากว่าระดับก่อนโควิดมากสุดเทียบกับประเทศอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก
ปีนี้ธนาคารโลกลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงจากขยายตัวร้อยละ 3.2 เหลือร้อยละ 2.8 และเหลือร้อยละ 3.0 ปีหน้า การขยายตัวที่ตํ่าทำให้รัฐบาลมองหาวิธีที่จะทําให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้น ซึ่งบทความตั้งข้อสังเกตสามเรื่อง
1. การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นโอกาส ซึ่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้วเดินทางไปทําการตลาดในต่างประเทศให้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานต่างๆ รวมถึงสนใจที่จะอนุญาตให้มีการเปิดคาสิโนในประเทศไทยในหลายพื้นที่สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางต่างประเทศเพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว
ถึงแม้จะไม่แก้ปัญหาการออกไปเล่นการพนันในต่างประเทศของคนไทย โดยวางเป้าจํานวนนักท่องเที่ยวปีนี้ไว้ที่ 40 ล้านคน เท่ากับตัวเลขก่อนโควิด
แต่โควิดไม่ได้ทำให้จํานวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเดียว รายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวก็ลดลงด้วย ตัวเลขไตรมาสสามปีที่แล้วชี้ว่ารายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวลดลงเกือบหนึ่งในสามเทียบกับตัวเลขปี 2019
ดังนั้น รายได้จากการท่องเที่ยวจะไม่กลับไประดับก่อนโควิด แม้จํานวนนักท่องเที่ยวจะทําได้ตามเป้า ที่สำคัญ สัดส่วนหรือความสำคัญของภาคท่องเที่ยวต่อจีดีพีประเทศไทยอาจไม่สูงอย่างที่ประเมินกันที่ 20 เปอร์เซ็นต์
เพราะจีดีพีประเทศมาจากการรวมมูลค่าเพิ่มของทุกอุตสาหกรรม คือรายได้ลบด้วยรายจ่าย ทําให้จีดีพีภาคท่องเที่ยวไทยอาจน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
2. การขยายตัวที่ตํ่าของเศรษฐกิจไทยมีมาตั้งแต่ก่อนโควิด อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงปี 1970-1996 เฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปีช่วงปี 2000ถึง 2024และยังลดลง ทําให้ผู้แทนรัฐบาลหลังการจัดตั้งรัฐบาลเรียกหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ถูกต้อง
นักเศรษฐศาสตร์ จอนห์ เมนาด เคนส์ (John Maynard Keynes) สอนว่าในเศรษฐกิจที่การใช้ทรัพยากรยังไม่เต็มที่ คือมีการว่างงาน มีกําลังการผลิตเหลือใช้งาน การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลสามารถเสริมการใช้จ่ายในประเทศและนําไปสู่ภาวะการจ้างงานเต็มที่ได้ เป็นมาตรการระยะสั้นชั่วคราวที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาวะที่การใช้จ่ายในประเทศอ่อนแอ
แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่ใช่เครื่องมือเพิ่มการเติบโตระยะยาวในกรณีที่เศรษฐกิจมีการใช้ทรัพยากรเต็มที่ ซึ่งกรณีประเทศไทยอัตราการว่างงานขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.1
บทความพูดถึงญี่ปุ่นช่วงทศวรรษปี 2000 ที่รัฐบาลลดดอกเบี้ยจนอัตราดอกเบี้ยติดลบและใช้จ่ายจนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงถึง 252 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2023 แต่เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.4 ต่อปี
ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเพิ่มอัตราการเติบโตระยะยาว และกรณีประเทศไทย เศรษฐกิจไม่ต้องการมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายระยะสั้น แต่ต้องการมาตรการที่จะเพิ่มผลิตภาพการผลิตระยะยาว
3. บทความมีความเห็นว่า อัตราการขยายตัวที่ต่ำของเศรษฐกิจไทยเป็นผลจาก
1.ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจที่กระทบภาคธุรกิจ
2.การลดลงของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะของบริษัทธุรกิจไทยที่ยังระมัดระวัง
3.การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและการศึกษาถูกละเลย เพราะการปฏิรูปให้ผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจไม่ใช่ระยะสั้น จึงไม่เป็นที่นิยมของรัฐบาลที่ผ่านมาโดยเฉพาะรัฐบาลที่นําโดยประชานิยม
ท้ายสุด บทความเสนอให้นโยบายนอกเหนือจากการปฏิรูปการศึกษา มุ่งไปที่การปฏิรูปนโยบายการค้า การลงทุนภาคเอกชนโดยลดต้นทุนที่มาจากมาตรการทางการ และรัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เหล่านี้คือประเด็นที่รัฐบาลควรมีความชัดเจนและรัฐบาลต้องมีความต้องการ(will) ที่จะปฏิรูปเพื่อเพิ่มผลิตภาพระยะยาว
ผมเห็นด้วยกับบทความนี้ ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างที่ชี้ว่าในสายตานักวิชาการต่างประเทศ การปฏิรูปเศรษฐกิจสําคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย และจะเป็นทางออกให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงได้เหมือนในอดีต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ
คำถามคือ ทําไมการปฏิรูปเศรษฐกิจในบ้านเราจึงไม่เกิดขึ้น ทําไมจึงยากแม้เป็นสิ่งที่ควรทํา
ความเห็นของผมคือ สำหรับรัฐบาลทุกสมัย การเมืองคืออำนาจ และที่สำคัญต่อการได้มาและรักษาอำนาจคือนโยบายระยะสั้นที่จะเรียก คะแนนนิยม เพื่อชนะการเลือกตั้งทั้งคราวนี้และคราวต่อไป ไม่ใช่นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะให้ผลระยะยาว
ที่สำคัญการปฏิรูปเศรษฐกิจหมายถึงการเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งอาจกระทบหรือถูกต่อต้านโดยผู้ที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ ทําให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ และถ้าผู้ที่ได้ประโยชน์มีพลังทางเศรษฐกิจมาก อำนาจรัฐบาลก็อาจสั่นคลอน นักการเมืองส่วนใหญ่จึงไม่กระตือรือร้นที่จะปฏิรูปแม้เป็นสิ่งที่ควรทำ
อย่างไรก็ตาม เรามีตัวอย่างมากมายที่ประเทศเจริญก้าวหน้าด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจและทุกคนในประเทศได้ประโยชน์ การปฏิรูปจึงเป็นสิ่งที่ทำได้
ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือสร้างความเข้าใจว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจไม่ใช่ Zero sum game ที่มีได้มีเสีย แต่เป็นวินวินสำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอนาคตของลูกหลานถ้าเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล