เศรษฐกิจถดถอย อาจเกิดขึ้นแล้วก็เป็นได้  

เศรษฐกิจถดถอย อาจเกิดขึ้นแล้วก็เป็นได้  

ตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หดตัวถึงร้อยละ -10.9 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 การส่งออกกลับไปติดลบร้อยละ -0.2 ต่อปี ทั้ง ๆ ที่ทรงกำลังสวย บวกต่อเนื่องมาได้หลายเดือน กลับแหกโค้งพลิกคว่ำซะอย่างนั้น

ถัดมาอีก 1 วัน กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศดัชนีผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เดือนมีนาคม หดตัวร้อยละ -5.1 ต่อปี เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ยาวนานกว่าวิกฤตช่วงไหน ๆ ของเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 1 หดตัวร้อยละ -3.7 ต่อปี หดตัวยาวนานถึง 6 ไตรมาส

ถัดมาอีก 1 วัน ผมจึงลุกขึ้นมาเขียนบทความนี้ เพราะวันนี้เราอาจจะกำลังตกอยู่ในช่วง “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค“ หรือที่เขาเรียกว่า Technical Recession หรืออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขจัดผลของฤดูกาลแล้ว เป็นระยะเวลา 2 ไตรมาสติดต่อกัน

มีเหตุผลอะไร ที่ทำให้ผมคิดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เกิดขึ้นแล้ว มาดูกันครับ

1.ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 1 หดตัวร้อยละ -3.7 ต่อปี ถ้าดูรายเดือนติดลบต่อเนื่องยาวนาน 18 เดือน นานกว่าช่วงไหน ๆ ของวิกฤตเศรษฐกิจไทย คำถามตัวโต ๆ คือ เกิดอะไรขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมไทย เราผลิตของยุคเก่า ขายโลกยุคใหม่ อย่างที่เขาว่าจริงหรือไม่

2.ส่งออกสินค้า ไตรมาส 1 หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปี ผลจากรถส้มแหกโค้งพลิกคว่ำเดือนมีนาคมที่การส่งออกสินค้าหดตัวสูงถึงร้อยละ -10.9 ต่อปี เฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -12.3 ต่อปี ส่งออกไปตลาดต่าง ๆ เกือบทั้งหมดหดตัวลง

3.กำลังซื้อของผู้บริโภค ในไตรมาสที่ 1 ทรุดทุกตัว เช่น ยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -17.9 ต่อปี ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -10.2 ต่อปี แม้แต่ยอดรถ EV จดทะเบียนใหม่ก็หดตัวทั้งในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ร้อยละ -35 ต่อปี และ -24 ต่อปี ตามลำดับ รายได้เกษตรกรแม้จะบวกได้แต่ก็บวกเพราะราคาพืชผลดี ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวตามกลไกตลาด

4.หนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 67 คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกจาก ณ สินปี 2566 ที่อยู่ที่ร้อยละ 91.3 ของ GDP เพราะ GDP น่าจะแผ่วลงไปมาก ตัวส่วนลดแต่ตัวเศษเพิ่ม อัตราส่วนก็เลยเพิ่ม

5.งบประมาณล่าช้าในช่วง 3 เดือนแรกของปี แม้จะมีการใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2566 ไปพลางก่อน แต่ก็ขาดเม็ดเงินใหม่ ๆ โดยเฉพาะจากการลงทุน เข้าไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจถดถอย อาจเกิดขึ้นแล้วก็เป็นได้  

ฉากทัศน์ที่ไม่เลวร้ายมากนัก ส่วนคิดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกขยายตัวเป็นบวกได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถ้าขจัดผลของฤดูกาลออก แล้วนำไปเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คือไตรมาสก็ที่ 4 ปี 2566 ก็มีโอกาสสูงมากขึ้น ที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะติดลบ

หมายความว่า เป็นไปได้ที่เราจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค และถ้าครั้งนี้เกิด จะถือเป็นครั้งที่ 7 ในประวัติศาสตร์ หลังจากครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด 19 ซึ่งต้องมาลุ้นกันราว ๆ กลางเดือนนี้ ส่วนฉากทัศน์ที่แย่กว่านี้คงไม่ต้องพูดถึง

ผลจากที่เศรษฐกิจในเดือนมีนาคมรวมถึงไตรมาสที่ 1 ที่ไม่สวยงามนัก จะส่งผลให้หน่วยงานประมาณการเศรษฐกิจกลับไปนั่งรันโมเดลใหม่ เพื่อปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจลงจากที่เคยคาดกันเอาไว้เมื่อช่วงต้นปี ภาพคล้าย ๆ ปีที่แล้ว ที่ต้นปีดี แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้ดีขึ้น ทำให้ต้องทยอยปรับลดประมาณการลงกัน

ตลอดปี หน่วยงานแรกที่ออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงเป็นเจ้าแรก คือ กระทรวงการคลัง ปรับลดจากร้อยละ 2.8 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.4 ต่อปี ก็ด้วยเหตุผลที่การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมออกมาไม่ดี ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่ปรับโมเดลให้เป็นปัจจุบันที่สุดตามข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ออกมา ได้อย่างรวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง

แต่กว่าข้อมูลของไตรมาสที่ 1 จะประกาศ เราก็เดินเลยจุดนั้นมาแล้ว เพราะปัจจุบันเรากำลังอยู่ในไตรมาสที่ 2 คือเดือนเมษายน - มิถุนายน ที่เม็ดเงินงบประมาณพร้อม ขุนพล อาวุธ กระสุนดินดำพร้อมแล้ว สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที ต้องกระตุ้นตลอดช่วงที่เหลือของปี ต้องวางนโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยขนาดเม็ดเงินที่มากพอ กระจายให้ทั่วถึงมากพอในทุกพื้นที่ จึงจะกระชากเครื่องยนต์เศรษฐกิจให้ผงกหัวขึ้นมาได้อีกครั้ง

เศรษฐกิจถดถอย อาจเกิดขึ้นแล้วก็เป็นได้  

และไม่ใช่เฉพาะภาพรวมของเศรษฐกิจ แต่ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบหน้ากระดาน ทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด ในช่วงครึ่งหลังของปี อย่าหวังพึ่งเฉพาะการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวกำลังกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติ (Normal Trend) ที่ไม่ได้มีอัตราการเติบโตสูงแบบปีที่แล้วอีกแล้ว หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น เราอาจจะเห็นหน่วยงานประมาณการเศรษฐกิจ

จากนี้ไปจะเป็นการวัดฝีมือรัฐบาลอย่างแท้จริง

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด