ชงครม.คลอด 'งบฯกลางปี 67' 1.2 แสนล้าน ดันขาดดุลพุ่ง เดินหน้าแจก 'เงินดิจิทัล'

ชงครม.คลอด 'งบฯกลางปี 67' 1.2 แสนล้าน ดันขาดดุลพุ่ง เดินหน้าแจก 'เงินดิจิทัล'

ชง ครม.วันนี้ ออกพ.ร.บ. งบฯกลางปี 67 สำนักงบฯชงปฏิทินงบกลางปี 67 เพิ่ม 1.22 แสนล้านบาท เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต สำนักงบฯชี้เป็นกรอบที่จะทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจ ยันดำเนินตามกฎหมาย และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง สศช.คาดดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นจีดีพีปีนี้ 0.25%

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน วันพรุ่งนี้ (21 พ.ค.) สำนักงบประมาณจะเสนอแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินรายจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 โดยกรอบการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม (งบฯกลางปี) 2567 เข้าสู่ที่ประชุมครม.โดยมีวงเงินประมาณ 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ทั้งนี้กรอบที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในครั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานเศรษฐกิจทำงานร่วมกันในการออก พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม ทั้งนี้ยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย และกรอบวินัยการเงินการคลังทุกประการ

ผ่านมาได้หารือร่วมกันกับกระทรวงการคลังแล้ว โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของงบประมาณปี 2567 ที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีการออกมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 แต่ด้วยระยะเวลาในการใช้จ่ายงบประมาณมีไม่มาก ขณะที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว 
ดังนั้นหากสำนักงบประมาณเลือกแนวทางการออกพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ปี 2567 อาจทำให้ทุกหน่วยงานหยุดชะงักลงการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลงได้ อีกประเด็นสำคัญคือ การออกพ.ร.บ.โอนงบประมาณ จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ในที่ประชุมจังเห็นตรงกันว่า เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณสามารถเดินต่อแบบไม่มีการสะดุด จึงสมควรให้จัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 ในโอกาสแรกก่อน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเพื่อให้รัฐบาลมีความพร้อมเรื่องของการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะเริ่มใช้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จึงต้องมีความพร้อมในการเตรียมพร้อมเรื่องของแหล่งเงินในการจัดทำโครงการวงเงิน 5 แสนล้านบาทซึ่งต้องใช้แหล่งเงิน 3 แหล่งงบประมาณคือ 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท

2.ใช้เงินจากมาตรา 28 ของธ.ก.ส. วงเงิน 172,300 ล้านบาท  และ 3.บริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท

ทั้งนี้การตั้งงบประมาณเพิ่มเติมเนื่องจากหลังจากที่งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ประกาศใช้แล้ว หน่วยงานต่างๆได้มีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณและเบิกจ่ายงบประมาณไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการงบประมาณหรือตัดงบประมาณในส่วนนี้ได้

ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ต้องมีการกันไว้สำหรับรายจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบฯกลางปี) วงเงินประมาณ 1.22 แสนล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตบางส่วนซึ่งการดำเนินการแบบนี้ทำให้ไม่กระทบกับงบประมาณของหน่วยงานอื่นๆ  

ทั้งนี้ในการจัดทำงบฯกลางปีนั้นรัฐบาลจะต้องจัดทำเป็น พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมขึ้นมา 1 ฉบับกำหนดวงเงินงบประมาณที่จะมีการจัดทำเพิ่มเติม วัตถุประสงค์ของการจัดทำงบประมาณ และภายหลังจากที่ ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมแล้วจะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ให้รัฐสภาเห็นชอบตามขั้นตอนเหมือนการจัดทำงบประมาณซึ่งหากสภาฯเห็นชอบก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากสภาฯไม่เห็นชอบร่างกฎหมายนี้ก็ตกไป

แหล่งข่าวกล่าวว่าการตั้งงบฯกลางปีโดยทั่วไปรัฐบาลจะตั้งในปีที่รัฐบาลมีการจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมาย เช่นในปี 2562 รัฐบาลเคยออพ.ร.บ.งบกลางฯปีเนื่องจากในปีนั้นรัฐบาลมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 G ซึ่งรายได้ที่ได้เพิ่มมาทำให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.งบฯกลางปีเพื่อนำเม็ดเงินที่ได้ในครั้งนั้นมากระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม

ในปัจจุบันจะต้องจับตาว่าการตั้งงบฯกลางปีของรัฐบาล 1.22 แสนล้านบาทนี้จะต้องมีการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2567 มากน้อยแค่ไหนเนื่องจากที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังยังคงจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย

โดยการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - มกราคม2567) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 824,115 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,836 ล้านบาท หรือ 1.1%

“ที่ผ่านมาในการจัดทำงบประมาณก็ยังมีช่องว่างที่ยังตั้งงบประมาณขาดดุลได้อยู่จากที่เดิมกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณไว้ที่    3,480,000 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณขาดดุล จำนวน 693,000 ล้านบาท หากรัฐบาลตั้งงบฯกลางปีเพิ่มก็จะต้องมีการปรับปรุงการขาดดุลงบประมาณเพิ่มในช่วงปลายปีงบประมาณจากเดิมที่ตั้งการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณนี้ 6.93 แสนล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการตามนี้และ พ.ร.บ.งบประมาณรายก็จะทำให้งบฯปี 2567 เพิ่มขึ้นมาเป็น 3,602,000 ล้านบาท” แหล่งข่าวระบุ

สศช.คาดดิจิทัลวอลเล็ตดันจีดีพีปีนี้ 0.25% 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล หากสามารถทำได้ตามเป้าหมายคือในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 เชื่อว่าจะมีส่วนผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 0.25% จากประมาณการของ สศช.ที่คาดว่า ทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2-3% หรือเฉลี่ย 2.5%

"ตัวเลขที่สศช. ประมาณการในปี 2567 นี้ ยังไม่ได้รวมผลของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต เข้าไป แต่เมื่อดูไทม์ไลน์ว่าจะเริ่มต้นไตรมาสที่ 4 และจะมีผลไป 6 เดือน คาดว่า เงินที่จะออก คือเงินใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง อาจจะไม่ได้ใช้จ่ายในไตรมาสที่ 4 ทีเดียวทั้ง 5 แสนล้านบาทก็ได้ เพราะเมื่อดูเป็นช่วง ๆ หากไตรมาส 4 มีมาตรการนี้ออกมาก็น่าจะมีส่วนเสริมกับเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.25%" นายดนุชา กล่าว