สินค้าไทย ‘ล้าหลัง’ ฉุดการผลิต-เศรษฐกิจป่วย

สินค้าไทย ‘ล้าหลัง’ ฉุดการผลิต-เศรษฐกิจป่วย

แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้จะขยายตัวขึ้นดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ความจริงแล้วถือว่ายังต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ปัจจัยหนึ่งมาจากการส่งออกช่วงแรกที่ติดลบ แต่ประเทศอื่นกลับทยอยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเวียดนาม

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2567 ที่ขยายตัวได้ 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่เติบโตในระดับต่ำมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกไทยที่ “หดตัว” แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องก็ตาม

ประเด็นที่เราอยากชวนคิด คือ ไทยเป็นเพียง 1 ในไม่กี่ประเทศที่การส่งออกช่วงไตรมาสแรกปี 2567 “ติดลบ” ขณะที่ประเทศอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบคึกคัก โดยเฉพาะเวียดนามที่ขยายตัวสูงถึง 16.8% เรียกได้ว่าต่างกับไทยชนิดหน้ามือหลังมือ ซึ่งถ้าดูลึกลงไปกว่านั้นภาคการผลิตของไทยในไตรมาสดังกล่าวยังลดลงราว 3.7% เป็นการลดลงต่อเนื่องไตรมาสที่ 6 สะท้อนภาพ “เศรษฐกิจไทย” ที่ดูเหมือนคนกำลังป่วยหนัก!

ถ้าเจาะลึกไส้ในของตัวเลขการส่งออกที่ลดลง จะพบว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว โดยเฉพาะยานยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจร ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งถ้านำไปเทียบกับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือเวียดนาม จะพบว่า การส่งออกของประเทศเหล่านี้เร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของวงรอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่โลกกำลังต้องการ

ภาพเหล่านี้กำลังบอกอะไรเราหรือไม่ สินค้าเรายังเป็นที่ต้องการของโลกอยู่รึเปล่า? ...ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุว่า ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นล้วนได้ประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลาย ตามการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น คอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ หรือสมาร์ตโฟน แต่ของไทยเป็นสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลาง เช่น วงจรรวม(IC) และ แผงวงจรพิมพ์(PCB) แม้สินค้าเหล่านี้จะเกาะเกี่ยวการฟื้นตัวของอิเล็กทรอนิกส์โลกได้บ้าง แต่ก็เป็นกลุ่มที่การแข่งขันรุนแรงขึ้นแถมยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้ค่อนข้างน้อย

นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นชัดเจนว่าภูมิภาคอาเซียนได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตสินค้าออกจากจีน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าที่สหรัฐใช้มาตรการทางภาษี แต่เมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่เข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียน 4 แห่ง คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และ ไทย พบว่า FDI ไหลเข้าไทยเพียงแค่ 2,969 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าอินโดฯ ที่ 21,701 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซียที่ 18,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ เวียดนามที่ 8,255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์เหล่านี้บ่งชี้ว่า เสน่ห์ของไทยกำลังหมดลงแล้วใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นมาแต่งหน้าทาปากกันใหม่หรือยัง?