ปตท.การันตีศักยภาพ 'แหล่งก๊าซ' พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ปตท.การันตีศักยภาพ 'แหล่งก๊าซ' พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

กลุ่ม ปตท. การันตีศักยภาพของ "แหล่งก๊าซธรรมชาติ" ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล "ไทย-กัมพูชา" ยืนยันเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

รายงานข่าวจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2567 ปตท.ได้ตอบคำถามผู้ถือหุ้นประเด็นเกี่ยวกับบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณอ่าวไทย กลุ่ม ปตท.ได้รับผลกระทบอย่างไร และได้พูดคุยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าผลจะเป็นอย่างไร

ปตท.ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ปตท. และ บริษัทในกลุ่มมีความมุ่งมั่นให้การสนับสนุนภาครัฐในการเจรจาแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) กับหน่วยงานภาครัฐของกัมพูชา 

ทั้งนี้ เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้าและชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาแหล่งปีโตรเลียมในพื้นที่ OCA เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ ทั้งในด้านความมั่นคงทางพลังงาน การเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคม หากการเจรจาพื้นที่ OCA ประสบความสำเร็จ

ปตท. จะสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเข้ามาทดแทนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่กำลังลดลงซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซฯ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้

ปตท.และบริษัทในเครือ มีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลให้กับภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเจรจาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ OCA กับหน่วยงานของประเทศกัมพูชา และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือที่จะช่วยให้การพัฒนาพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า พื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ที่มีพื้นที่เป้าหมายพัฒนาร่วมกัน 16,000 ตารางกิโลเมตร รัฐบาลไทยได้ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ส่วนผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย

1.แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%

2.แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%

3.แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%

4.แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%

5.แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. 

สำหรับพื้นที่ที่ ปตท.สผ.ได้รับสิทธิเป็นแปลงที่อยู่ล่างสุดของพื้นที่ทับซ้อนซ้อน โดยสิทธิในการสำรวจและผลิตในพื้นที่ดังกล่าวได้หยุดนับเวลาไว้นับตั้งแต่มีการโต้แย้งของทั้ง 2 ประเทศ 

ในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงาน (Overlapping Claims Area : OCA) ยังอยู่ในกรอบการเจรจาตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU ปี 2544) ซึ่งลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2544 มีแนวทางในการเจรจา 2 ส่วน คือ

1.จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนให้มีการพัฒนาร่วม

2.ตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนที่กำหนดให้มีการแบ่งเขตทางทะเลบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างเจรจาโดยจะเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกัน โดยจะไม่ยุ่งในเรื่องของพื้นที่ทับซ้อนหรือเส้นเขตแดน