ครม.เศรษฐกิจกระตุ้นระยะสั้น เพิ่มค้ำประกันสินเชื่อSMEs - ปรับกรอบเงินเฟ้อ
ครม.เศรษฐกิจนัดแรกรัฐบาลเศรษฐา จ่ออัดมาตรการระยะสั้นพยุงเศรษฐกิจ ใน 2 – 3 สัปดาห์ อัดมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่ม ตั้งเงื่อนไขปล่อยกู้รายใหม่ หลังพบกำลังการผลิตเอสเอ็มอีทรุดหนัก เห็นพ้องแบงก์ชาติขยับกรอบเงินเฟ้อใหม่ก่อนรอบระยะเวลาปกติ หวังอัตราดอกเบี้ยเหมาะสม
วานนี้ (27 พ.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) อย่างไม่เป็นทางการ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ประธานผู้แทนการค้าไทย นายนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมประชุม
นายเศรษฐา กล่าวว่าเรื่องเศรษฐกิจในวันนี้ตามที่เราทราบกันดีว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก แต่วันนี้เรายังไม่เรียกภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะยังมีเรื่องการท่องเที่ยวที่ยังช่วย แต่ก็ยังเดินหน้าไม่เต็มที่ และที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจไม่ค่อยดีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง
“การนัดประชุมครม.เศรษฐกิจ เพื่อระดมความคิดหาทางออก ช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ จึงขอให้ทุกท่านใช้เวทีนี้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ มีอะไรที่อยากจะหารือ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อะไรสามารถทำได้หรือทำ”นายกรัฐมนตรี กล่าว
ภายหลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจนายพิชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังพร้อมด้วยนายจุลพันธ์ และนายเผ่าภูมิ รมช.คลังทั้งสองคนได้ร่วมกันแถลงข่าวโดยนายพิชัยกล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศที่ส่งผลต่อให้ สศช.ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศตลอดปี 2567 ลงจาก 2.7% เหลือ 2.5%
ทั้งนี้ที่ประชุมได้นำทุกปัญหามากางบนโต๊ะเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกัน โดยจะมีมาตรการออกมาเป็นระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและทำทุกวิถีทางโดยตนเองไม่ต้องบอกว่าพอใจการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ 2.5% โดยในระยะสั้นจะมีเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีการทำงบประมาณรายจ่ายกลางปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ขณะที่ในปีหน้างบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็คือวงเงินประมาณ 1.6 แสนล้านบาท
รวมถึงยังมีปัญหาอีกหลายเรื่อง เช่น ปัญหาเศรษฐกิจโลกโตช้า กำลังซื้ออ่อนตัว โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก รวมถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมสูงวัย ความสามารถทางการแข่งขัน หนี้ครัวเรือน และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPL) ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ต้องการการแก้ไขโดยการปรับโครงสร้าง และรากฐานเศรษฐกิจ แต่อีกหลายเรื่องภาครัฐสามารถทำได้เลย เช่น การเร่งการเบิกจ่ายภาครัฐ การกระตุ้นกำลังซื้อ การท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าเรากำลังทำกันอยู่ แต่วันนี้จะมาพูดคุยในเรื่องของรายละเอียด ว่าจะทำกันอย่างไรเพื่อที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเร็ว
“ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยเราดี อุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจเราโดยพื้นฐานแล้วน่าจะขยายตัวได้เกิน 3.5% ขึ้นไปไม่น่าจะอยู่ที่ 1 – 2% แต่การขยายตัวเศรษฐกิจของเราก็ต่ำกว่า 3.5% มาตลอดซึ่งเราต้องมานั่งคุยกันว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร”
นายเผ่าภูมิกล่าวว่าในการประชุมครั้งนี้การหารือกันนั้นมีการพูดคุยกันในเรื่องของเงินเฟ้อที่ต่ำ และการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีโดยในส่วนของเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ในแต่ละปีที่ 1-3%นั้นทั้งกระทรวงการคลังและ ธปท.ก็เห็นพ้องกันว่าต้องมีการหารือในเรื่องนี้ก่อนระยะเวลาที่มีการกำหนดไว้ตามปกติที่จะมีการหารือเรื่องนี้ในช่วงปลายปี โดยในเรื่องของเงินเฟ้อนั้นถือว่ามีประเด็นสำคัญ 2 เรื่องคือกรอบเงินเฟ้อในปัจจุบันนั้นเหมาะสมหรือไม่ และกรณีที่เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้าหมายจะมีเครื่องมือหรือแนวทางอย่างไรให้เงินเฟ้อกลับมาสู่กรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของกระทรวงการคลังและธปท.
ส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีภาพในวันนี้คือเราเห็นการหดตัวของสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยให้กับเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง ขณะที่รายใหญ่ได้รับสินเชื่ออย่างสบาย เพราะฉะนั้นมาตรการที่มีการพูดคุยกันและผู้ว่าการ ธปท.ได้เสนอและเห็นตรงกับมาตรการของกระทรวงการคลังคือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือมาตรการ “PGS” ซึ่งจะเป็นมาตรการ PGS รอบที่ 11 ซึ่งการช่วยเหลือในส่วนนี้ของภาครัฐจะทำให้ปัญหาในเรื่องที่สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ในส่วนนี้ภาครัฐจะเข้าไปช่วยรับความเสี่ยงให้
“ภาครัฐจะช่วยดูดซับความเสี่ยงในส่วนนี้ออกไปซึ่งมาตรการนี้จะเข้า ครม.ได้ใน 2 – 3 สัปดาห์ข้างหน้า พยายามเร่งให้เร็วที่สุด โดยมีการเพิ่มเงื่อนไขว่าต้องปล่อยกู้หรือค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีรายใหม่ที่ไม่เคยได้รับเงินกู้เป็นอันดับแรกด้วย”
ในส่วนของงบประมาณกระทรวงการคลังจะไปเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของงบประมาณและงบในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้รับโจทย์ให้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนช่วยให้มีการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น
ส่วนมาตรการในภาคของการท่องเที่ยวที่ประชุมฯได้มีการพูดคุยว่าต้องเพิ่มการท่องเที่ยวในช่วงที่เป็นโลว์ซีซั่นนั้นที่ประชุมมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาไปดึงนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองซึ่งจะเปิดเผยเงื่อนไขให้ทราบต่อไป