Thailand New Deal กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่แจกเงิน
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต่ำลงไปมากจากอดีต รวมทั้งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเกิดจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง เป็นปัญหาที่สะสมกันมานาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการลงทุนปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายด้าน
หากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ การแทรกแซงทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จ มักเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐเผชิญกับอัตราการว่างงานสูง เศรษฐกิจชะลอตัว หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1929 สหรัฐกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่า The Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ส่งผลให้ตลาดหุ้นล้ม ธนาคารหลายแห่งต้องปิดตัวเนื่องจากประชาชนแห่ถอนเงินอย่างมหาศาล อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
เหตุการณ์นี้ได้สร้างความไม่เชื่อมั่นในกลุ่มธนาคาร ภาคธุรกิจ และรัฐบาล ประชาชนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขอย่างเร่งด่วน ขณะนั้น ประธานาธิบดี Hoover ได้พยายามแก้ไขปัญหาแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อ Franklin D. Roosevelt เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ก็ได้ประกาศใช้นโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ คือการกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยมี จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเสนอให้ภาครัฐเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากหากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดอาจจะสายเกินไปในการกู้สถานการณ์ สหรัฐจึงประกาศใช้นโยบาย “New Deal” เพื่อแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
นโยบาย New Deal มีเป้าหมายแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเพิ่มบทบาทของภาครัฐในการแทรกแซงเศรษฐกิจที่ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยภาคเอกชน
นโยบายนี้รวมถึงการอัดฉีดเงินจากธนาคารกลางสหรัฐให้กับธนาคารพาณิชย์ที่ใกล้ล้มละลาย การปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนน สะพาน ทางหลวง และเขื่อน พร้อมทั้งว่าจ้างแรงงานที่ตกงานในขณะนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ
นอกจากนี้ยังมีการสร้างระบบประกันสังคมและกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้ประชาชนชาวอเมริกันมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นโยบายนี้ได้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐ และนำประเทศกลับมาผงาดในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง กลายเป็นตัวอย่างสำคัญในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจและการแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยภาครัฐที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง
ในอีกมุมหนึ่งของโลก เมื่อปี 2020 หลังจากเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้จัดตั้งยุทธศาสตร์ชาติใหม่ที่เรียกว่า The Korean New Deal โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปฏิรูปอุตสาหกรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 ยุทธศาสตร์นี้จะสามารถสร้างงานได้ถึง 1,901,000 ตำแหน่ง
รัฐบาลคาดว่าการลงทุนในโครงการจะมีมูลค่าสูงถึง 160 ล้านล้านวอน แบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก Green New Deal เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและพลังงานหมุนเวียน ส่วนที่สองคือการพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทน ระบบกระจายพลังงานสะอาด และขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและไฮโดรเจน
ส่วนที่สาม Digital New Deal รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และจัดตั้งระบบ Smart Healthcare ขยาย Social Safety Net ให้ความคุ้มครองแก่ชนชั้นแรงงานและผู้คนในพื้นที่ชนบท
ในส่วน Green New Deal รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสนับสนุนสำหรับปี 2021 ราว 17 ล้านดอลลาร์ ให้กับผู้บริโภคที่ซื้อรถไฟฟ้าและอีกประมาณ 33.5 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฮโดรเจน
มีการออกกองทุนรวม “K-New Deal Fund” เพื่อระดมทุนให้ถึง 3.5 ล้านล้านวอนจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อตอบสนองนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และยังพัฒนายุทธศาสตร์ Korean New Deal 2.0 โดยขยายกรอบการลงทุนเพิ่มเป็น 220 ล้านล้านวอน เพื่อจัดตั้งระบบ Cloud Computing และบล็อกเชน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนจ้างงานอีก 2.5 ล้านตำแหน่ง
การผสมผสานระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและการมอบสวัสดิการทางสังคมผ่านยุทธศาสตร์นี้ สะท้อนถึงแนวคิดของเคนส์ที่เน้นการแทรกแซงตลาดเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค การเพิ่มอัตราการจ้างงาน และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน รวมถึงการคุ้มครองทางสังคมเพื่อรองรับกลุ่มเปราะบาง
ย้อนกลับมามองไทย หากรัฐบาลสามารถรวบรวมเงินมาได้ถึง 5 แสนล้านบาทเพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เราควรจะเปลี่ยนมากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสร้างเป็นนโยบาย Thailand New Deal แทนแจกเงินดีหรือไม่
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ต้องแจกเงินก็สามารถทำได้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยจะได้เปลี่ยนเครื่องใหม่ ยกระดับสมรรถนะใหม่ ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและต่อเนื่องไปในระยะยาว