‘เศรษฐกิจไทย’ สุดเปราะบาง เริ่มกัดกร่อนภาคธุรกิจ

‘เศรษฐกิจไทย’ สุดเปราะบาง เริ่มกัดกร่อนภาคธุรกิจ

ปัญหาเศรษฐกิจไทยยังคงน่าเป็นห่วงหลัง GDP เติบโตรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน ล่าสุด NPL และ SM กลายเป็นกลุ่มหนี้ที่เริ่มเพิ่มขึ้นจนจำเป็นต้องจับตามอง ซึ่ง ธปท. ก็เปิดเผยว่า NPL ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.74% ในไตรมาสแรกปี 2567

เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับภาวะ Long COVID สะท้อนผ่านตัวเลข GDP ที่เติบโตในระดับต่ำรั้งท้ายกลุ่มประเทศหลักในอาเซียน ซึ่งเป็นภาวะที่น่าห่วงอย่างมากๆ เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า จะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน และจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง เพราะภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตในระดับต่ำมากๆ เริ่มกัดกร่อนศักยภาพของประเทศลงไปเรื่อยๆ

ที่น่าห่วงสุดในเวลานี้ คือ “ภาคธุรกิจไทย” เริ่มจะป่วยตามภาคเศรษฐกิจแล้ว สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้เสีย(NPL) และหนี้ที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ(SM) ของภาคธุรกิจที่เริ่มกระโดดขึ้นจนเตะตา โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า NPL ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.74% ในไตรมาสแรกปี 2567 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 2.66% ขณะที่ SM ในไตรมาสแรกปี 2567 ขยับขึ้นมาแตะระดับ 6.13% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ในระดับเพียง 5.88%

ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ การขยับขึ้นของ NPL และ SM ในรอบนี้มี “สินเชื่อธุรกิจ” เป็นตัวดึงขึ้น โดย NPL ของสินเชื่อธุรกิจขยับขึ้นจาก 2.57% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ระดับ 2.64% ในไตรมาสล่าสุด ขณะที่ SM ของสินเชื่อธุรกิจขยับขึ้นจาก 5.45% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 5.74% ในไตรมาสล่าสุด เรียกว่ากระโดดขึ้นมาแบบน่าตกใจ ...การเพิ่มขึ้นของ NPL และ SM ของสินเชื่อภาคธุรกิจนั้น ทาง ธปท. ให้เหตุผลว่า เป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพ ซึ่งอาจเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์เริ่มเห็นสัญญาณไม่ดีจากธุรกิจเหล่านี้ หรือเริ่มเห็นผลดำเนินงานที่แย่ลง เริ่มมีผลขาดทุน จึงได้จัดชั้นให้เป็น NPL หรือ SM ไว้ก่อน

ถ้าเจาะดูไส้ในของสินเชื่อดังกล่าว ยิ่งน่ากังวลใหญ่ เพราะเริ่มเห็นการขยับขึ้นของธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น โดยธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อมากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป เริ่มเห็น NPL ขยับขึ้นสู่ระดับ 1.14% จาก 1.09% ส่วนหนี้ SM ขยับขึ้นสู่ระดับ 3.73% จากระดับ 3.49% เป็นตัวเลขที่ขยับขึ้นมาไม่น้อย คงต้องกลับไปหาสาเหตุกันว่า อะไรคือตัวแปรหลักที่ทำให้ภาคธุรกิจไทยอ่อนแอลงขนาดนี้ นับเป็นการบ้านใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องจัดการ

ส่วนหนี้ครัวเรือนไม่ต้องพูดถึง ทั้ง NPL และ SM ในไตรมาสแรกปี 2567 ขยับขึ้นเกือบยกแผง โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นอะไรที่น่าตกใจมาก อย่างที่เคยเขียนถึงหลายครั้งว่า “บ้าน” จะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ผู้คนยอมปล่อยให้กลายเป็น NPL แต่จากตัวเลขที่ ธปท. ประกาศออกมาล่าสุด NPL ของสินเชื่อบ้านขยับขึ้นจากระดับ 3.34% เป็น 3.49% ขณะที่หนี้ SM ขยับขึ้นจาก 4.99% เป็น 5.14% ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้านในกลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางอย่างมากของเศรษฐกิจไทย ...แล้วเราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้อีกนานแค่ไหน!