รัฐบาลรื้อกรอบการคลังระยะปานกลาง 68-71 กู้ขาดดุลเพิ่ม - หั่นเป้า GDP 4 ปีซ้อน

รัฐบาลรื้อกรอบการคลังระยะปานกลาง 68-71 กู้ขาดดุลเพิ่ม - หั่นเป้า GDP 4 ปีซ้อน

ครม.ไฟเขียวปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง 68-71 รอบ2 ขาดดุลงบฯพิ่ม หั่นจีดีพี 4 ปีงบประมาณติด ปิดประตูจีดีพีโต 5% ตามเป้าหมายรัฐบาล หนี้สาธารณะต่อ GDP ตลอดแผนทะลุ 68% สำนักงบฯ เบรกฝ่ายการเมืองถามเรื่องใช้เงินนอกงบประมาณ ‘จุลพันธ์‘ เล็งใช้เงินนอกงบประมาณตามกรอบกม.

รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่มเติม สำหรับใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีวงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ทำให้ต้องมีการปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง (2568-2571

แผนการคลังระยะปานกลางที่รัฐบาลจัดทำยังสะท้อนให้เห็นปัญหาการขยายตัวได้ไม่เต็มศักยภาพของเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ตามขนาดของงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจนใกล้กับระดับเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 (ปีงบประมาณ 2568-2571) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ 

ทั้งนี้ได้ปรับลดจีดีพีตั้งแต่ปี 2567-2571 ลงให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางครั้งใหม่ ซึ่งได้รวมการจัดทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการจัดทำ พ.ร.บ.งบกลางปี 2567 ซึ่งมีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมอีก 1.22 แสนล้านบาท โดยมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม

สำหรับสถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง ได้มีการเปลี่ยนแปลงคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยใหม่ โดยปรับลดคาดการณ์ลงทุกปีงบประมาณ โดยปี 2567 เดิมอยู่ที่ 2.7% ลดลงเหลือ 2.5% ส่วนปี 2568 คาดการณ์จีดีพีเดิมอยู่ที่ 3.3% ลดลงเหลือ 3.0% ส่วนปี 2569-2570 เดิมคาดการณ์อยู่ที่ 3.3% ลดลงเหลือ 3.2% และปี 2571-2572 เดิมอยู่ที่ 3.2% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3.0%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2569 คาดว่าจะอยู่ช่วง 0.9-1.9% และปี 2570 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.1-2.1% ส่วนในปี 2571-2572 มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วง 1.3-2.3%

ส่วนประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ปรับเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 2,797,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2568 เท่ากับ 2,887,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2569 เท่ากับ 3,040,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2570 เท่ากับ 3,204,000 ล้านบาท และ ปีงบประมาณ 2571 เท่ากับ 3,394,000 ล้านบาท

ส่วนการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปี 2568 อยู่ที่ 865,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ต่อจีดีพี ปี 2569 อยู่ที่ 703,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ต่อจีดีพี ปี 2570 อยู่ที่ 693,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 % ต่อจีดีพี และปี 2571 อยู่ที่ 683,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ต่อจีดีพี ซึ่งยังถือว่าสูงกว่าระดับความยั่งยืนทางการคลังที่ควรอยู่ที่ไม่เกิน 3% 

 

ขณะที่ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 122,000 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 3,602,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 3,897,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 4,077,000 ล้านบาท

ส่วนจากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ เพิ่มขึ้นอีก 112,000 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 805,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.3% ต่อจีดีพี

หนี้สาธารณะขยับใกล้เพดาน70%

นอกจากนี้ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634 ล้านบาท คิดเป็น 62.4% ของจีดีพีและประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสำหรับปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 65.7%, ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 67.9%, ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 68.8%, ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 68.9% และ ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 68.6%

“เป้าหมายและนโยบายการคลัง รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง" 

ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

ปรับลดจีดีพีลงตลอด4ปี

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า การจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ดังกล่าว มีเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น รัฐบาลได้ทำงบประมาณแบบขาดดุลเพิ่มเติม หมายถึงการกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ภายในแผนนี้กลับปรับลดจีดีพีลงตลอด 4 ปี อีกทั้งยังสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลนี้ที่ระบุว่าจะผลักดันให้จีดีพีตลอดการบริหารของรัฐบาลขยายตัวเฉลี่ย 5% 

นอกจากนี้ จะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีแนวทางจัดทำงบประมาณแบบสมดุล โดยจัดงบประมาณแบบขาดดุลทุกปี และไม่มีแนวทางบริหารให้หนี้สาธารณะลดลง และเป็นอันตรายมากที่หนี้สาธารณะขึ้นไปแตะ 68% ของจีดีพีขณะที่เพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพีซึ่งถือว่าในปัจจุบันพื้นที่การคลังของประเทศเหลือน้อยลงมาก 

ทั้งนี้ หากมีเหตุการณ์วิกฤติเข้ามากระทบกับเศรษฐกิจไทยระดับหนี้สธารณะจะเกินกว่า 70% ของจีดีพีกระทบกับเครดิตเรตติ้งของประเทศซึ่งจะกระทบกับต้นทุนในการระดมทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศได้

รมต.ถามสาเหตุรัฐบาลต้องกู้เงิน

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า ในระหว่างที่มีการพิจารณากรอบการคลังระยะปานกลาง ซึ่งมีการพูดถึงการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณมีรัฐมนตรีคนหนึ่งได้สอบถามว่าทำไมในการจัดทำงบประมาณต้องมีการกู้เงินจำนวนมากทั้งที่จริงๆแล้วประเทศไทยนั้นมีเงินนอกงบประมาณอยู่จำนวนมากหลายแสนล้าน 

รวมทั้งน่าจะเอามาใช้ได้จะได้ไม่ต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ก็บอกว่าเป็นแนวคิดที่ดีเหมือนกันแต่ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณนั้นช่วยอธิบายเรื่องนี้

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณก็อธิบายว่าเงินนอกงบประมาณนั้นแม้ว่าจะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ว่าแต่ละหน่วยงานที่มีการดูแลเงินนอกงบประมาณอยู่ก็มีกฎหมายเฉพาะในการดูแลเงินของประชาชนที่อยู่กับกองทุนและอยู่ในส่วนต่างๆ ซึ่งรัฐบาลนั้นไม่สามารถจะไปนำมาใช้ได้โดยตรงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานด้วย 

“คลัง”รับเล็งดึงเงินนอกงบประมาณมาใช้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.มีการหารือถึงประเด็นการนำเงินนอกงบประมาณมาใช้จ่าย เพื่อเป็นทางเลือกในการลดการพึ่งพาแหล่งเงินจากงบประมาณ

สำนักงบประมาณ ชี้แจงว่า ขณะนี้ได้มีการจัดสรรแล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ขณะที่ในส่วนของกระทรวงการคลังเองก็รับข้อเสนอดังกล่าวมาศึกษา เพื่อดูรายละเอียดว่าในอนาคตจะสามารถดึงเงินนอกงบประมาณมาใช้ได้มากน้อยเพียงใด เพื่อบรรเทาภาระทางงบประมาณ

“รัฐบาลไม่ได้ชี้เป้าว่าต้องไปดูเงินนอกงบประมาณส่วนไหนเป็นพิเศษ แต่ทราบว่าเงินนอกงบประมาณมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งบางส่วนหากเข้าไปดูก็สามารถบริหารได้จริง รวมแล้ววงเงินก็เกือบ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยผ่อนเบางบประมาณ อย่างไรก็ตาม บางส่วนก็เป็นกองทุนที่ไม่สามารถแตะต้องได้”