ส่งออกขยายตัว ดัน MPI เม.ย. 67 พลิกบวก 3.43% หลังหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือนติด
สศอ.ผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เม.ย. 67 อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยายตัว 3.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน จากการส่งออกที่ขยายตัว ปรับประมาณการ MPI ปี 67 ขยายตัว 0.0 - 1.0% ด้าน GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 67 ขยายตัว 0.5 – 1.5%
นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยาย 3.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 55.26% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการส่งออกกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 14.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และฐานต่ำในปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.28 หดตัวเฉลี่ย 2.06% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.13% เนื่องจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ และปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยที่กดดันให้ MPI หดตัว ทั้งนี้ สศอ. ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2567 อยู่ที่ขยายตัว 0.0 - 1.0% ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 คาดขยายตัว 0.5 – 1.5%
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพฤษภาคม 2567 “ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น” โดยปัจจัยภายในประเทศฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นทางธุรกิจ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น จากการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา และผลผลิตในสหภาพยุโรป รวมทั้งภาคการผลิตของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
“สศอ. ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2567 อยู่ที่ขยายตัว 0.0 - 1.0% จากประมาณการเดิมขยายตัว 2.0 - 3.0% ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 คาดขยายตัว 0.5 – 1.5% จากประมาณการครั้งก่อนคาดว่าจะขยายตัว 2.0 - 3.0% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหน่วยงานทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยมีสาเหตุหลักจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศและอัตราดอกเบี้ยมีระดับสูง ต้นทุนพลังงานและค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น สภาพภูมิอากาศแปรปรวนกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร ปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกล้นตลาดประเทศไทย รวมถึงปัจจัยต่างประเทศ อาทิ เศรษฐกิจคู่ค้าหลักบางประเทศอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด การเลือกตั้งผู้นำในหลายประเทศ ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน”
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.19% จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมถึงผู้ผลิตสามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น เพิ่มความสามารถในการกรอง PM 2.5 โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกไปสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.78% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบิน และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คึกคักกว่าปีก่อน ส่งผลให้มีการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น
อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.11% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารไก่ และอาหารสุกร เป็นหลัก ตามกระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะการส่งออกขยายตัวจากตลาดยุโรป รวมถึงการรับจ้างผลิตให้ลูกค้าต่างประเทศ สำหรับอาหารสำเร็จรูปในกลุ่มปศุสัตว์ขยายตัวตามความต้องการของตลาด
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.16% จากผลิตภัณฑ์ Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก และผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีมูลค่าต่อหน่วยสูง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง
ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.82% จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศที่ลดลง 27.97% จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง และสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับการส่งออกลดลง 6.81% ตามความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้าลดลง
คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.39% จากผลิตภัณฑ์พื้นสำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรดและตัวแทนจำหน่ายชะลอคำสั่งซื้อเนื่องจากมีสินค้าในสต๊อกจำนวนมาก