นโยบายเศรษฐกิจกับนักการเมือง | บัณฑิต นิจถาวร
อาทิตย์ที่แล้ว อินโดนีเชียกับมาเลเซียประกาศนโยบายการค้า การปฏิรูปเศรษฐกิจ และโครงการลงทุน ที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศ และวางมาตรฐานการกำหนดระเบียบและนโยบายเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น
เป็นการตัดสินใจของนักการเมือง เป็นตัวอย่างของการทำนโยบายที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงและวางทิศทางชัดเจนให้กับประเทศโดยนักการเมือง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
อินโดนีเซียเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาประกาศสองนโยบายสำคัญ
หนึ่ง ประกาศที่จะเข้าเป็นสมาชิกความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกหรือ CPTPP ภายในปีนี้เพื่อส่งเสริมการส่งออก
ซึ่ง CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีมาตรฐานสูงและครอบคลุมทั้งการค้า บริการ การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และสินทรัพย์ทางปัญญา ทําให้ประเทศที่เข้าร่วมต้องปรับตัวมากถ้าจะเป็นสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิก 11ประเทศ ไม่มีไทย
สอง ประกาศที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อการร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา หรือ OECD ภายในสามปี ซึ่งเงื่อนไขสำคัญของการเป็นสมาชิกคือยกระดับคุณภาพของการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สูงของ OECD เช่น เรื่องธรรมาภิบาล
ทําให้อินโดนีเซียจะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจหลายด้าน และถ้าทำได้จะเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนประเทศแรกที่เป็นสมาชิก
สำหรับ มาเลเซียประกาศที่จะดึงเงินลงทุนกว่า 5.3 พันล้านดอลลาร์พัฒนามาเลเซียให้ศูนย์การผลิตชิปของโลกที่ธุรกิจทั่วโลกพึ่งพาได้ คือเป็นห่วงโซ่การผลิตที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และจะผลิตวิศวกร 60,000 ตำแหน่งเพื่อสนับสนุนการเติบโตดังกล่าว
ขณะที่สิงคโปร์ประกาศขยายการผลิตพลังงานสีเขียวในประเทศเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ AI
เห็นข่าวเหล่านี้แล้วชัดเจนว่านักการเมืองทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ต้องการผลักดันประเทศของเขาให้ก้าวหน้าต่อไปในเวทีโลก ต้องการยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเขาให้สูงขึ้น เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในประเทศ
แม้จะเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย เป็นตัวอย่างของการทำนโยบายเศรษฐกิจที่มาจากการตัดสินใจของนักการเมือง
คําถามคือทําไมนักการเมืองบางประเทศทํา บางประเทศไม่ทํา
นักการเมืองกับนโยบายเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เพราะอนาคตนักการเมืองว่าจะได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนต่อไปหรือไม่ก็มาจากผลงานด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก จากนโยบายเศรษฐกิจที่ทํา
ว่าทําให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้นหรือไม่ อย่างที่ อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน เคยกล่าว "It's the economy, stupid" คือไม่ต้องมองเรื่องอื่น
นโยบายเศรษฐกิจสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ แต่ไม่สามารถทําได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยนักการเมืองเป็นคนขับเคลื่อน คือนํานโยบายไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
การตัดสินใจทางเศรษฐกิจจึงเป็นโจทย์สำหรับนักการเมืองทั่วโลก บางคนทําได้ดีจนเป็นตัวอย่างให้คนพูดถึง บางคนทําไม่ได้ หรือทําตรงข้ามกับสิ่งควรทํา สร้างความเสียหายให้กับประเทศ
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาดีหรือเลว ความสําเร็จหรือความล้มเหลวในเรื่องเศรษฐกิจจะเป็นสิ่งที่ประชาชนจดจําเป็น legacy ของนักการเมือง แม้ในความเป็นจริง นักการเมืองส่วนใหญ่จะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์โดยอาชีพก็ตาม
นโยบายเศรษฐกิจมาจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ประสบการณ์การทำนโยบายในอดีต และการออกแบบหรือ calibrate นโยบายให้เหมาะกับสถานการณ์และปัญหาที่มีเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ต้องการ
และสำหรับนักการเมือง สิ่งที่ต้องตระหนักคือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่นักการเมืองอยากเห็นไม่ได้มาจากการใช้อํานาจทางการเมือง คือเอาแต่สั่งไม่ได้ แต่ผลลัพธ์จะมาจากการทํางานของกลไกตลาด คือระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อนโยบายเศรษฐกิจที่ใช่ และการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งในภาคปฏิบัติของระบบราชการ
นี่คือสามสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นที่จะนําไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่นักการเมืองอยากเห็น
ดังนั้น หน้าที่ของนักการเมืองคือ ตั้งโจทย์ให้ถูก สร้างความเข้าใจและการคาดหวังในสิ่งที่จะทําเพื่อให้เกิดการสนับสนุน ใช้อำนาจบริหารสนับสนุนนโบายด้วยงบประมาณ กฎหมาย การออกระเบียบ และรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น
นี่คือสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งสำหรับนักการเมืองจํานวนมาก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการทํานโยบาย ซึ่งถ้าไม่มีก็ต้องมีทีมเศรษฐกิจที่รู้จริงสนับสนุน
ด้วยความยากนี้ ในหนังสือ เงินและอำนาจ ปี 2021 หรือ Money and Power เขียนโดย Vince Cable อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปัตย์ (Liberal Democrats) ประเทศอังกฤษ ได้สรุปผู้นำทางการเมืองกับการทำนโยบายเศรษฐกิจว่าแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม
กลุ่มแรก คือพวกที่ไม่ทําอะไรมาก ปล่อยเศรษฐกิจไปตามกระแสหรือแนวโน้มที่กําลังเกิดขึ้น (Riding the trend)
กลุ่มสอง คือพวกที่พยายามทำบ้างเล็กๆน้อยๆ แก้นี่นิดแก้นี่หน่อยพอเป็นพิธี (Tweaking) ไม่กระทบสิ่งที่มีอยู่ เพื่อให้ดูว่ากําลังทํางาน
กลุ่มสาม คือนักการเมืองที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ดําเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ Transformative เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจจากสิ่งที่มีอยู่ไปสู่สิ่งใหม่เพื่ออนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน
นักการเมืองส่วนใหญ่รวมถึงผู้นำทางการเมืองในบ้านเราจะเป็นพวกกลุ่มหนึ่งและกลุ่มสอง ไม่มีกลุ่มสาม ซึ่งน่าเสียดาย
กลุ่มสามจะเป็นนักการเมืองที่ทั่วโลกจดจำจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตัวอย่างผู้นําหรือนักการเมืองกลุ่มนี้ก็เช่น มาร์กาเรต แทชเชอร์ (Margaret Thatcher) นักการเมืองอังกฤษที่นําเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ระบบเสรีนิยมและมีอิทธิพลต่อการเติบโตของระบบโลกาภิวัตน์ในเศรษฐกิจโลก
เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) นักการเมืองจีนที่ผลิกเศรษฐกิจจีนจากความยากจนไปสู่เศรษฐกิจอันดับสองของโลก และ ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) นักการเมืองสิงคโปร์ผู้สร้างและขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์มาตั้งแต่ต้น นี่คือตัวอย่างนโยบายเศรษฐกิจที่สร้างการเปลี่ยนแปลง
นักการเมืองกลุ่มสามคือนักการเมืองที่คนส่วนใหญ่อยากเห็น ที่จะทํานโยบายเศรษฐกิจเพื่อพาประเทศและเศรษฐกิจไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
ประเทศเราก็เช่นกัน เราต้องการนักการเมืองแบบนี้ ซึ่งคุณสมบัติสำคัญของนักการเมืองกลุ่มสามที่เราเห็นได้ชัดในนักการเมืองทั้งสามคนที่พูดถึง คือ ความปรารถนาอย่างแรงกล้าของตัวนักการเมืองเองที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม อันนี้ต้องมีและหายากมากในนักการเมืองปัจจุบัน
สำหรับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นักการเมืองประเทศเขาก็กําลังพยายามทํา จะทําได้มากน้อยแค่ไหนที่จะเปลี่ยนประเทศก็ต้องรอดูและให้กำลังใจเพราะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่สําหรับประเทศเราตอนนี้ไม่มีแน่นอน นักการเมืองบ้านเรายังพอใจในสิ่งที่มีอยู่ และดูเหมือนจะพร้อมให้เศรษฐกิจของประเทศโตตํ่าต่อไป
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล