‘ครม.’ไฟเขียวกรอบงบฯกลางปี 67 1.22 แสนล้าน แจก ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’
ครม.ไฟเขียวกรอบงบฯกลางปี 67 1.22 แสนล้านบาท เดินหน้าแจกดิจิทัลวอลเล็ต เตรียมทำ พ.ร.บ.งบฯเสนอ ครม.อีกรอบก่อนเข้าสภา 9 ก.ค.นี้ ก่อนทูลเกล้าฯงบกลาง ส.ค.นี้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบรายละเอียดวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินสำหรับใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโยบายรัฐบาล
สำหรับรายละเอียดวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท โดยเตรียมไว้สำหรับเป็นงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยจากการประชุมร่วมกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ เห็นชอบประมาณการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐเพิ่มขึ้น และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 1.12 แสนล้านบาท ทั้งหมดนี้จะยังคงอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ หลังจากผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2567 สำนักงบประมาณ ได้ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ปี 2567 เสนอเข้ามาพิจารณา ก่อนจัดทำรายละเอียดรายจ่ายเพิ่มเติมฯ เสนอให้ครม.เห็นชอบและไปรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอครม.อีกครั้ง
จากนั้นจึงจัดพิมพ์ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ และเอกสารประกอบงบประมาณ เสนอครม.ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 และจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณางบประมาณผ่านรัฐสภา ซึ่งตามขั้นตอนปฏิทินงบประมาณ คาดว่า วันที่ 13 สิงหาคม 2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทะเบียนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ขณะนี้ ยังไม่ได้ออกเกณฑ์การลงทะเบียนร้านค้า ซึ่งคณะกรรมการกำกับฯ กำลังหาเงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุด ง่ายที่สุดต่อประชาชน โดยเฉพาะร้านค้ารายเล็ก เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า ที่ขายของอยู่ตามตลาด และคนขายขายของได้รับเงินในโครงการนี้ เข้าสู่กระบวนการลงทะเบียนได้ง่ายขึ้น
“ยืนยันว่า จะกระจายไปยังรายย่อยไม่ใช่แค่รายใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างความง่ายของประชาชน และจำนวนร้านค้าว่าเพียงพอหรือไม่ จึงต้องรวมร้านสะดวกซื้อเข้ามา เพราะให้เกิดความง่ายกับประชาชน” นายเผ่าภูมิ กล่าว
ส่วนคณะกรรมการกำกับโครงการ จะประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ทุกมิติ โดยจะดูในเรื่องของการเชื่อมระบบ Open Loop ให้ธนาคารหรือธุรกิจกระเป๋าเงินต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเชื่อมมีความเข้าใจในตัวระบบที่จะเข้ามาเชื่อมกัน โดยจะมีการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเชื่อมกันทางเทคนิคด้วย