กองทุนประกันสังคมยังมั่นคง? เมื่อคนรับเงินมีมากกว่าคนจ่ายสมทบ
กองทุนประกันสังคมมีสัดส่วนรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 73.4% เมื่อเทียบกับ 34.6% ในปี 2556 จึงเกิดคำถามว่า เงินในกองทุนฯ จะพอจ่ายให้ผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินบำเหน็จ-เงินบำนาญหลังเกษียณในปี 2575 หรือไม่?
เงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคม เป็นความมั่นคงของรายได้หลังเกษียณของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่อายุครบ 55 ปี จะได้รับเงินชราภาพ กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน ได้รับเป็นบำเหน็จชราภาพ แต่หาก ส่งเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป (ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม) ได้รับเป็นบำนาญชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั่วประเทศ ณ เดือน เม.ย. 2567 ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีจำนวน 24,602,082 คน แยกเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,857,864 คนมาตรา 39 จำนวน 1,759,628 คน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10,984,590 คน
โดยกองทุนประกันสังคม มีมูลค่าทรัพย์สินของการลงทุน ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 (ม.ค. - มี.ค. 2567) จำนวน 2,508,729 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมตั้งแต่จัดตั้งกองทุน 948,032 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วในปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) 14,175 ล้านบาท
ส่วนกองทุนเงินทดแทน มีมูลค่าทรัพย์สินของการลงทุน 80,413 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมตั้งแต่จัดตั้งกองทุน 28,639 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วในปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) 525 ล้านบาท โดยปี 2565 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 7.6 แสนคน
ทว่ารายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ สภาพัฒน์เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 พ.ค.อาจทำให้ผู้ประกันตนเกิดความกังวลถึงความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม
เนื่องจากช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 โดยในปี 2556 สัดส่วนรายจ่ายต่อรายรับอยู่ที่ 34.6% เพิ่มขึ้นเป็น 73.4% ในปี 2564 ซึ่งปี 2565 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพียง 7.6 แสนคนเท่านั้น แต่ในปี 2575 คาดว่าอาจจะมีมากถึง 2.3 ล้านคน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2576 ประเทศไทย จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึง ร้อยละ 30 ขณะที่ปัจจุบัน เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีลดลงเหลือแค่ ร้อยละ 20 และคาดว่า ปี 2581 อัตราการเกิดจะยิ่งลดลง เหลือต่ำกว่า ร้อยละ 15 ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรมากขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานกระทบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงด้านประชากร และเป็นความเสี่ยงที่กองทุนประกันสังคมที่จะประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและความยั่งยืน เนื่องจากประชากรวัยแรงงานจะลดลง ยอดส่งเงินสมทบกองทุนลดลงตามไปด้วย
คำถามที่ตามมาคือ “กองทุนประกันสังคมยังมีความมั่นคงและยั่งยืนหรือไม่ และโอกาสที่จะเสี่ยงล้มละลายจะเกิดขึ้นหรือไม่” จำเป็นต้องสร้างระบบประกันสังคมที่มีความยั่งยืนด้วยการ เพิ่มทั้งรายรับและรายจ่ายกองทุนฯตั้งแต่วันนี้หรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผู้ประกันตนต่างชาติ เพิ่มจำนวนผู้ประกันตนระยะสั้น การปรับเพิ่มอายุเกษียณอย่างค่อยเป็นค่อยไป จาก 55 ปีเป็น 65 ปี เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเนื่องจากระยะจ่ายบำนาญสั้นลง รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพ เป็นการป้องกันความเสี่ยงในวันที่ “คนรับเงินมากกว่าคนจ่ายเงินสมทบ”