“เงินบำนาญชราภาพประกันสังคม” กำลังเสี่ยง

“เงินบำนาญชราภาพประกันสังคม” กำลังเสี่ยง

กองทุนประกันสังคมความยั่งยืนน่าห่วง สภาพัฒน์เผยปี 64 มีสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้เป็น 73 % แล้ว อีก 8 ปีหรือปี 75 จำนวนคนรับ “เงินบำนาญชราภาพประกันสังคม” เพิ่ม  3 เท่า ขณะที่คนจ่ายเงินเข้าสมทบจำนวนลดลง

KEY

POINTS

  • จำนวนผู้ประกันตน ระบบประกันสังคม มีกว่า 24.6 ล้านคน  เฉพาะมาตรา 33 จำนวนกว่า 11.8 ล้านคน  มีมูลค่าทรัพย์สินของการลงทุนของกองทุนประกันสังคมในไตรมาส 1/2567 จำนวนกว่า 2.5 ล้านล้านบาท
  • เงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคม เป็นหนึ่งความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่หวังจะได้รับเมื่อจ่ายเงินสมทบครบตั้งแต่ 180 เดือน อายุครบ 55 ปี และสิ้นสภาพผู้ประกันตนแล้ว 
  • เงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคมในวันนี้ อาจมีความไม่แน่นอน เมื่อกองทุนประกันสังคมกำลังเผชิญความเสี่ยงเรื่องความยั่งยืน เพราะ “คนรับเงินมากกว่าคนจ่ายเงินสมทบ” ยิ่งอีก 8 ปีข้างหน้าคนรับเพิ่มขึ้น 3 เท่า

จำนวนผู้ประกันตน ประกันสังคม

ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ระบุว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั่วประเทศ ณ เดือนเม.ย. 2567 จำนวนทั้งสิ้น 24,602,082 คน  แยกเป็น 

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ อายุไม่เกิน 60 ปี บริบูรณ์ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 7 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน จำนวน 11,857,864 คน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 ลูกจ้างที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครอง 6 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ จำนวน 1,759,628 คน
  •  ผู้ประกันตนมาตรา 40 บุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ประกอบอาชีพอิสระ ทำงานไม่มีนายจ้าง โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 3-4-5 กรณี ขึ้นอยู่กับทางเลือก จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพ สงเคราะห์บุตร ตาย

    มียอดผู้ประกันตน ทางเลือก 1 จำนวน 2,752,149 คน ทางเลือก 2 จำนวน 7,062,830 คน ทางเลือก 3 จำนวน 1,169,611 คน รวมยอดผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั่วประเทศทั้งสิ้น จำนวน 10,984,590 คน
    “เงินบำนาญชราภาพประกันสังคม” กำลังเสี่ยง

ยอดเงินกองทุนประกันสังคม

สำนักงานประกันสังคม เผยผลการบริหารเงินลงทุน ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 (มกราคม - มีนาคม 2567) โดยกองทุนประกันสังคม มีมูลค่าทรัพย์สินของการลงทุน 2,508,729 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมตั้งแต่จัดตั้งกองทุน 948,032 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วในปี  2567(ม.ค.-มี.ค.) 14,175 ล้านบาท

ส่วนกองทุนเงินทดแทน  มีมูลค่าทรัพย์สินของการลงทุน 80,413 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสมตั้งแต่จัดตั้งกองทุน 28,639 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วในปี  2567(ม.ค.-มี.ค.) 525 ล้านบาท

เงื่อนไขรับเงินบำนาญชราภาพประกันสังคม

ทั้งนี้ การรับเงินบำเหน็จ หรือ เงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคม เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับถือเป็นหนึ่งในความมั่นคงของรายได้หลังเกษียณ เมื่อดำเนินการเป็นไปตามเงื่อนไขที่จะได้รับ

ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่อายุครบ 55 ปี จะได้รับเงินชราภาพ กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน ได้รับเป็นบำเหน็จชราภาพ แต่หาก ส่งเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป (ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม)  ได้รับเป็นบำนาญชราภาพ

ผู้ประกันตนจะมีสิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนก็ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ดังนี้

1.มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

2.ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย

กองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยง

ทว่า ในรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 1 ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศราฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ซึ่งแถลงเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 ระบุถึงหนึ่งในประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม

โดยกองทุนฯ มีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต สวนทางกับแนวโน้มจำนวนแรงงานรุ่นใหม่ ที่จะมีบทบาทในการส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนฯ ลดลง

“เงินบำนาญชราภาพประกันสังคม” กำลังเสี่ยง

ข้อมูลจากผลการศึกษางบประมาณด้านการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2566) พบว่า

ช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยในปี 2556 สัดส่วนรายจ่ายต่อรายรับอยู่ที่ 34.6 % เพิ่มขึ้นเป็น 73.4 % ในปี 2564

สาเหตุสำคัญมาจากการปรับเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในด้านต่าง ๆ อาทิ การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จากเดือนละ600 บาท เป็น 800 บาท รวมถึง จำนวนผู้ประกันตนเข้าใหม่และเกษียณที่สวนทางกัน

โดยในปี 2575 จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพอาจมีมากถึง 2.3 ล้านคน  จากเดิมที่ในปี 2565 มีจำนวนเพียง 7.6 แสนคนเท่านั้น เป็นความเสี่ยงที่กองทุนฯ จะประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและความยั่งยืน อันจะส่งผลต่อเนื่อง ไปยังผลประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต

“เงินบำนาญชราภาพประกันสังคม” กำลังเสี่ยง

ปฏิรูปกองทุนประกันสังคม

ขณะที่เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2567  พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  ตอบคำถามเรื่อง “กองทุนประกันสังคมจะล้มละลายในอีก 30 ปีนี้หรือไม่”ระหว่างเป็นประธานการจัดงานประชุมสร้างการรับรู้ และรับฟังข้อคิดเห็นงานประกันสังคม “SSO Sustainable for All เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน”ว่า 

"ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหากเราไม่ทำอะไร จากผลการประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยสำนักงานประกันสังคมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่าผู้ประกันตนจะเกษียณอายุเพิ่มขึ้น จะมีผู้รับบำนาญสะสมเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”นายพิพัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ได้ศึกษาตัวอย่างแนวทางการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมให้มีความยั่งยืนไว้ในหลายรูปแบบ เช่น

  • การปรับเพดานค่าจ้าง เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน เพิ่มทั้งรายรับและรายจ่ายกองทุน
  • การเพิ่มผู้ประกันตนต่างชาติ เพิ่มจำนวนผู้ประกันตนระยะสั้น เป็นการขยายความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานในประเทศมากยิ่งขึ้น
  •  การปรับเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน
  • การปรับเพิ่มอายุเกษียณอย่างค่อยเป็นค่อยไป จาก 55 ปีเป็น 65 ปี ในระยะเวลา 50 ปี จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเนื่องจากระยะจ่ายบำนาญสั้นลง
  •  การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพ

“แนวทางทั้งหมด จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ช่วยกำหนดแนวทางร่วมกัน และจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานเพื่อประชาชน เพราะทุกคนล้วนเป็นกำลังสำคัญในการออกแบบประกันสังคมที่ยั่งยืนร่วมกัน ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความเชื่อมั่นว่าจะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่แรงงานทุกคน เพื่อเสริมสร้างระบบประกันสังคมที่มีความยั่งยืนในรูปแบบที่ดียิ่งขึ้นสำหรับประเทศไทย”นายพิพัฒน์กล่าว

 

อ้างอิง : สำนักงานประกันสังคม , รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ