งบประมาณ 67 ล่าช้า-เบิกจ่ายสะดุด ฉุดยอดขายรถในประเทศดิ่ง 24%
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับต่ำโดยในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เติบโตได้เพียง 1.5% มีสาเหตุหลักอย่างหนึ่งคือการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า จากขั้นตอนการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ใช้เวลานาน ส่งผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะดุด กกร.มองกระทบยอดขาย-ผลิตรถในประเทศ
KEY
POINTS
- การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับต่ำโดยในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เติบโตได้เพียง 1.5% มีสาเหตุหลักอย่างหนึ่งคือการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ทำให้การลงทุนภาครัฐหดตัวไป 27.7%
- การเบิกจ่ายในเดือน พ.ค.เริ่มดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่า 3 ปีงบประมาณย้อนหลัง และภาคก่อสร้างยังได้รับผลกระทบ
- กกร.มองว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนสะดุด กระทบยอดขาย-ผลิตรถในประเทศที่ปีนี้หดตัวไปกว่า 24% โดยรถส่วนใหญ่ที่ยอดขายลดลงเป็นรถ Commercial Car
เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการเติบโตจำกัด สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เพียง 1.5% จากปีก่อน เติบโตชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 4/2566 ที่ขยายตัวได้ 1.7% โดยปัจจัยกดดันที่สำคัญกลายมาเป็นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการอุปโภคภาครัฐหดตัว 2.1% ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวมากถึง 27.7% ซึ่งมาจากปัจจัยในเรื่องกระบวนการงบประมาณปี 2567 ที่ใช้ระยะเวลาในการเบิกจ่ายค่อนข้างนาน โดยกว่าที่งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะใช้ได้อย่างเป็นทางการคือช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
แม้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐในเดือน พ.ค.2567 จะเร่งตัวขึ้นได้ชัดเจนจาก 13.6% ในเดือน เม.ย.มาอยู่ที่ 25.9% ในเดือน พ.ค. โดยเป็นผลจากการที่ พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 มีผลบังคับใช้และรัฐบาลได้มีการออกมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายไปเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายในการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนฯให้ได้ 100% โดยตั้งเป้าว่าภายในไตรมาส 1 จะเบิกจ่ายได้ 11% ในไตรมาสที่ 2 ตั้งเป้าว่าเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 24% และในไตรมาสที่ 3 เร่งตัวขึ้นเป็น 80% ก่อนที่จะไปสิ้นสุดในไตรมาสที่ 4 100%
หากแต่ข้อมูลที่สะท้อนผ่านรายงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในการประชุมเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาก็ยังแสดงความกังวลเพราะการเบิกจ่ายงบลงทุนยังถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ 3 ปีงบประมาณล่าสุด (64-66) และ การเบิกจ่ายของภาครัฐที่ใกล้ชิดกับภาคการก่อสร้างก็ยังถือว่าต่ำกว่าในอดีตมาก ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายของภาครัฐอย่างมากที่จะมีการเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานของ กกร.ยังระบุด้วยว่าการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งงบลงทุนที่ล่าช้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยอดการขายและยอดการผลิตรถยนต์ที่ลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยยอดขายที่ลดลงกว่า 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นยอดขายรถยนต์ในกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (Commercial Car) ที่หดตัวตามภาคก่อสร้าง
โดยยอดจำหน่ายรถยนต์สะสมในช่วง 4 เดือนแรกของปี ลดลง 24% (YoY) หรือหายไปราว 6.7 หมื่นคัน ส่วนใหญ่มาจากยอดขายรถกระบะ ( Pick Up 1 Ton) ที่ลดลงถึง 42% (YOY) คิดเป็นจำนวน 5.4 หมื่นคัน รองลงมา คือ รถบรรทุก (Truck) และรถยนต์นั่ง (Passenger Car) ที่ลดลง 35% (YoY) และ ลดลง15% (YoY) ตามลำดับ
โดยยอดขายที่ลดลงของ Commercial Car มีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับต่ำ โดยเฉพาะจากปัญหาการเบิกจ่ายงบปี 2567 ที่ล่าช้าจึงทำให้ความต้องการใช้รถกระบะและรถบรรทุกดตัวตามภาคก่อสร้าง
ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ของกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า อินโดนีเซีย มียอดขายรถยนต์สะสมใน ช่วง 4 เดือนแรกของปี ลดลง 23% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถใหม่ ขณะที่เวียดนาม มียอดจำหน่ายลดลง 11 % แต่มีข้อสังเกตว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ของมาเลซียเพิ่มขึ้น 8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการยกเว้นภาษีการขาย (sales tax) ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายรถผลิตภายในประเทศมาเลเซีย
ต้องจับตาดูว่าเมื่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเริ่มเร่งตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นได้มากแค่ไหน และจะส่งผลให้ยอดขายและยอดผลิตรถในประเทศพลิกฟื้นเป็นบวกได้หรือไม่
หรือภาครัฐอาจจะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมเช่นเดียวกับที่รัฐบาลมาเลเซียออกมาตรการมาช่วยการผลิตรถในประเทศจนยอดขายเป็นบวกได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน