คลัง แนะรัฐบาลจัดงบฯโปะหนี้เพิ่ม ห่วงหนี้สูงกระทบเชื่อมั่น – เครดิตประเทศ

คลัง แนะรัฐบาลจัดงบฯโปะหนี้เพิ่ม ห่วงหนี้สูงกระทบเชื่อมั่น – เครดิตประเทศ

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ทำให้เกิดแรงกดดันทางการคลัง และหนี้สาธารณะของรัฐบาล การกู้เงินอีก 1.12 แสนล้านบาทในการทำงบฯกลางปี 2567 กระทรวงการคลังเสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มการชำระหนี้ในส่วนของเงินต้น ไม่น้อยกว่า 3% ของวงเงินงบประมาณแต่ละปี

KEY

POINTS

  • นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ทำให้เกิดแรงกดดันทางการคลัง และการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล โดยเฉพาะการกู้เงินอีก 1.12 แสนล้านบาทในการทำงบฯกลางปี 2567 ทำให้การขาดดุลงบประมาณชนเพดานตามมาตรา 21 พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ
  • หนี้สาธารณะและภาระหนี้ภาครัฐที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงการคลังเสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มการชำระหนี้ในส่วนของเงินต้น ไม่น้อยกว่า 3% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี
  • กระทรวงการคลังระบุว่าหนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจจะกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ที่อาจปรับลดลง และอาจส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศได้ในอนาคต

 

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลจะคิกออฟแจกเงินในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ แม้ว่าจะเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือจะเป็นนโยบายที่จั๊มสตาร์ทเครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาพลิกฟื้นอีกครั้ง

แต่ในทางปฏิบัติเรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่ต้องมีการปรับแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาตลอดทาง โดยเฉพาะในส่วนของการหาแหล่งเงินมาดำเนินโครงการ ซึ่งรัฐบาลได้วางแผนว่าจะใช้เงินจาก 3 แหล่งเงินตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 ที่ระบุว่าจะมาจาก  การบริหารงบฯ ปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท  การดำเนินการผ่านหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และ  งบฯ ปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

ในส่วนแรกเม็ดเงินที่ใช้จากการบริหารงบประมาณปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท  ในที่สุดรัฐบาลตัดสินใจที่จะออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการนี้ แทนการทำพ.ร.บ.โอนงบประมาณ ทั้งนี้การทำงบฯรายจ่ายเพิ่มเติมทำให้รัฐบาลต้องปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง 2568 – 2571 เพื่อรองรับการจัดทำงบฯเพิ่มเติม และทำให้การกู้ขาดดุลงบประมาณในปี 2567 เพิ่มขึ้นอีก 112,000 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 805,000 ล้านบาท (จากเดิมขาดดุลงบประมาณอยู่ที่  6.93 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นการขาดดุลงบประมาณ 4.3% ต่อจีดีพี

ขาดดุลเกินกรอบยั่งยืนการคลัง

นอกจากนี้ตลอดแผนการคลังระยะปานกลางการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพียังสูงกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ควรจะอยู่ต่ำกว่า 3% โดยมีรายละเอียดดังนี้  

  • ปี 2568 ขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 865,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ต่อจีดีพี
  • ปี 2569 ขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 703,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ต่อจีดีพี
  • ปี 2570 ขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 693,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 % ต่อจีดีพี
  • ปี 2571 ขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 683,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ต่อจีดีพี

หนี้สาธารณะปริ่มเพดาน

ขณะที่ข้อมูลหนี้สาธารณะและระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่น่ากังวลเพราะใกล้กับระดับเพดานที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพี โดยระดับหนี้สาธารณะในแต่ละปี ดังนี้

  • ปี 2567 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 18,513,465 ล้านบาท คิดเป็น 65.7% ต่อจีดีพี
  • ปี 2568 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 19,289,179 ล้านบาท คิดเป็น 67.9% ต่อจีดีพี
  • ปี 2569 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 20,178,411 ล้านบาท คิดเป็น 68.8% ต่อจีดีพี
  • ปี 2570 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 21,154,239 ล้านบาท คิดเป็น 68.9% ต่อจีดีพี
  • ปี 2571  หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 22,175,989 ล้านบาท คิดเป็น 68.6% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นทุกปี ถือว่าเป็นความท้าทายสำคัญต่อกรอบความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีใกล้กับระดับ 70% อย่างมาก ต่างจากก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ประเทศไทยในขณะนั้นมีหนี้สาธารณะต่ำมากแค่เพียง 40% ต่อจีดีพีเท่านั้น

ทั้งนี้ในภาวะที่หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับสูง รวมทั้งการขาดดุลงบประมาณนั้นชนเพดานตามมาตรา โดยตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่เพิ่มเติมมาตรา 21 กำหนดว่าให้การตั้งงบประมาณรายจ่ายขาดดุลจะต้องอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และต้องไม่เกิน 80% ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น

กระทรวงการคลังได้เสนอแนะแนวทางในการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาลผ่านรายงานแผนการคลังระยะปานกลางฉบับปรับปรุงล่าสุดว่า กระทรวงการคลังควรบริหารหนี้สาธารณะโดยยึดหลักดำเนินการในเชิงรุก ( Proactive Debt Management) และการรักษาวินัยในการชำระหนี้ (Debt Repayment Discipline) รวมทั้งคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Affordability) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และสนับสนุนความยั่งยืนทางการคลัง

สำหรับเป้าหมายสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ดังนี้

  1. การบริหารหนี้ในเชิงรุกคือการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อปรับกลยุทธ์การระดมทุนของรัฐบาลให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมทั้งตลาดการเงินทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และเตรียมการรองรับความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยโลก เพื่อบรรเทาผลกระทบทั้งในเชิงต้นทุนและความเสี่ยงจากด้านอัตราดอกเบี้ยและการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล โดยยังคงสามารถระดมทุนได้ครบตามที่กำหนดในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดทางปัจจัยทางมหภาคและตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  2. การรักษาวินัยในการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและภาระดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการบริหารรายจ่ายประจำในอนาคตได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่รัฐบาลมีภาระหนี้เพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินมาตรการทางการคลังในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีภาระต้นเงินกู้ที่สูงขึ้นมาก ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2567 หากสถานการณ์ เศรษฐกิจฟื้นตัวและการจัดเก็บรายได้ปรับตัวดีขึ้น รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้เพื่อชดเชย งบชำระต้นเงินกู้ที่จัดสรรให้ต่ำไปในช่วงปีก่อนหน้าด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้เฉพาะ ของหนี้รัฐบาลซึ่งมีวงเงินกู้ที่สูงขึ้นมากในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงควรได้รับการชดเชยในสัดส่วนที่สูงขึ้น ให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีงบประมาณนั้น

แนะตั้งงบฯคืนสูงกว่า 3% ของงบประมาณ

“รัฐบาลควรจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้เฉพาะของหนี้ รัฐบาลไม่ต่ำกว่า 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี มิเช่นนั้นความสามารถในการชำระหนี้ในระยะปานกลางอาจปรับลดลงซึ่งอาจกระทบกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศได้ นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จะต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระดอกเบี้ยอย่างพอเพียงเนื่องจากภาระดอกเบี้ยเป็นภาระต่องบประมาณที่จะต้องจ่ายทั้งจำนวนโดยไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ จึงควรจัดสรร งบประมาณสำหรับงบชำระดอกเบี้ยให้มีความยืดหยุ่นรองรับความผันผวนสูงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน ซึ่งกระทบกับภาระดอกเบี้ยจ่ายโดยตรงในอนาคต เพื่อให้ประเทศยังคงมีเสถียรภาพทางการคลังอย่างยั่งยืน”

ภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณเกิน 10% 

กระทรวงการคลังระบุด้วยว่าความสามารถในการชำระหนี้เป็นตัวชี้วัดที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศให้ความสำคัญ โดยประเมินจากภาระดอกเบี้ยในแต่ละปีงบประมาณต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณซึ่งพบว่าหากสัดส่วนดังกล่าวสูงเกินกว่า10% (เทียบเท่าระดับ A- (Upper Medium Investment Grade) อาจส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณในภาพรวม หรืออาจทำให้ต้องลดงบประมาณรายจ่าย ประจำในส่วนอื่นหรือปรับลดงบลงทุน (ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 75 – 80% ของงบประมาณประจำปี) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาวได้

ซึ่ง สบน.ได้กำหนดเป็นเกณฑ์ภายในสำหรับการติดตามสัดส่วนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 8.31% ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ทั้งนี้ การติดตามสัดส่วนดังกล่าวนับเป็นการบูรณาการ งานทั้งในส่วนของภารกิจด้านหนี้สินและภารกิจด้านรายได้ โดยการบริหารหนี้และการชำระหนี้จะ สะท้อนถึงภาระดอกเบี้ย ในขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้จะสะท้อนในประมาณการรายได้

ต้องติดตามว่าในปีงบประมาณต่อๆไปรัฐบาลจะมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้หนี้เงินต้นในส่วนของเงินกู้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นตามที่กระทรวงการคลังให้คำแนะนำหรือไม่ เพราะหากไม่ได้เพิ่มสัดส่วนดังกล่าวการคลังของไทยก็จะอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงในประเด็นนี้อยู่เช่นเดิม