เปิดเงื่อนไข 'พลังงาน' ขยับราคา'ดีเซล' วัดใจเคาะเพดานใหม่ 35 บาท
เปิดเงื่อนไข "กระทรวงพลังงาน" ขยับราคาน้ำมัน "ดีเซล" จาก 33 บาทต่อลิตร วัดใจรัฐบาลเคาะเพดานรอบใหม่ 35 บาทต่อลิตร
KEY
POINTS
- ครม. "เศรษฐา" มีมติให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 31 ก.ค.2567
- กองทุนน้ำมันฯ เก็บเงินจากกลุ่มเบนซินได้แต่ก็ต้องมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท ทำให้ปัญหาหลักคือเคลียร์หนี้เงินกู้จำนวน 105,333 ล้าน
- กองทุนน้ำมันฯ ทำตามมติครม. คือตรึงดีเซลไว้ให้ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2567 นี้ หากครบกำหนด กบน.สามารถขยับราคาได้
- "กบน." เคยปรับราคาน้ำมันดีเซลไปสูงถึง 34.94 บาทต่อลิตร เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 12 มิ.ย. 2565 ติดลบ 91,089 ล้านบาท
ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะตะวันออกกลางส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลยผันผวนต่อเนื่อง โดยประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบสัดส่วน 90% ของความต้องการใช้ ในขณะที่ดีเซลถือเป็นต้นทุนของทุกภาคส่วนในประเทศสูงถึง 70 ล้านลิตรต่อวัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พยุงราคาดีเซลให้อยู่ระดับไม่กระทบค่าครองชีพประชาชนไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร มาเป็นเวลานาน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบทะลุ 1.1 แสนล้านบาทอีกครั้ง รัฐบาลจึงขยายกรอบการตรึงราคาดีเซลและทำให้กระทรวงพลังงานขึ้นราคาดีเซลรวม 3 บาท ส่งผลให้ปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม การขยับราคาน้ำมันดีเซลของกระทรวงพลังงาน ครั้งนี้ เป็นผลมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2567 เห็นชอบให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 31 ก.ค.2567
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้บัญชีของกองทุนน้ำมันฯ ถือว่าอยู่ในภาวะที่คงที่ แม้ว่าการปรับขึ้นราคาดีเซลล่าสุดเป็น 33 บาทต่อลิตร ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ควักจ่ายเฉลี่ยกว่า 1 บาทต่อลิตร แต่ก็ยังสามารถเก็บเงินชดเชยจากกลุ่มเบนซินได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 200 ล้านบาท ส่งผลให้บัญชีกองทุนน้ำมันฯ ติดลบล่าสุดวันที่ 2 มิ.ย. 2567 ที่ 111,467 แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,774 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 47,693 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ว่ากองทุนน้ำมันฯ จะเก็บเงินจากกลุ่มเบนซินได้แต่ก็ต้องมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท จึงทำให้ปัญหาตอนนี้คือ การเคลียร์หนี้เงินกู้จำนวน 105,333 ล้านบาท ให้หมดไปตามเงื่อนไข โดยอาจจะต้องรอนโยบายจากผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ท่านใหม่ที่จะมาแทนนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผอ.สกนช. ที่จะหมดวาระวันที่ 16 ส.ค. 2567 นี้ ว่าจะมีแนวทางอย่างไร
อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมของนักบริหารด้านการเงินทั่วไป หากจะช่วยให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องมากขึ้น ก็อาจจะมีการแปลงหนี้ อาทิ การแปลงเป็นธนบัตรโดยรัฐบาลก็ต้องค้ำประกัน เพื่อยืดอายุการจ่ายเงินกู้ โดยให้กองทุนน้ำมันฯ จ่ายเพียงแค่ดอกเบี้ยไปก่อน เนื่องจาก ช่วงเดือน พ.ย. 2567 นี้ กองทุนน้ำมันจะต้องเริ่มจ่ายหนี้เงินต้นวงเงินกู้ในงวดแรกที่เริ่มกู้มาที่จำนวน 5,000 ล้านบาท เท่าที่จำได้จะเฉลี่ยจ่ายคืนใน 5 ปี หรือใช้วิธีขอขยายระยะเวลาจ่ายเงินต้นออกไปก่อน เป็นต้น
"ตอนนี้กองทุนน้ำมันฯ ยังต้องทำตามมติครม. ตรึงดีเซลไว้ให้ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2567 นี้ ดังนั้น ระหว่างนี้ก็ต้องรอดูภาคนโยบายว่าจะมีแนวคิดอะไรออกมาก และหากครบกำหนดวันที่ 31 ก.ค. 2567 แล้ว ก็จะเป็นมติของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ว่าจะมีมติปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอีกครั้งหรือไม่ ดังนั้น ส่วนสำคัญคือบัญชีทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ" แหล่งข่าว กล่าว
รายงานข่าวระบุว่า หลังจาก นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับตำแหน่งเวันที่ 23 ส.ค.2566 ประกาศนโยบายตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร โดยเริ่มใช้ระหว่าง 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2567 จนขณะนี้เงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบกว่า 1.1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2567 กบน.ประกาศขึ้นราคาดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร เป็นครั้งแรกหลังจากรัฐบาลตรึงราคาดีเซลตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 และปรับขึ้นครั้งละ 50 สตางค์ จนเต็มเพดาน 33 บาท เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2567
ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ราคาพลังงานโลกมีการผันผวนและปรับขึ้นสูงมาก ส่งผลให้ กบน. เคยปรับราคาน้ำมันดีเซลไปสูงถึง 34.94 บาทต่อลิตร โดยให้มีผลวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ขณะที่ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 12 มิ.ย. 2565 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 91,089 ล้านบาท