จังหวะ ‘ลดดอกเบี้ย’ ที่ดีสุด อาจผ่านไปแล้ว ?

จังหวะ ‘ลดดอกเบี้ย’ ที่ดีสุด อาจผ่านไปแล้ว ?

หลังจากนี้ไปเราเชื่อว่า จะกลายเป็นความยากของการทำนโยบายการเงิน เพราะดูแล้วถ้าเงินเฟ้อยังขยับขึ้นแรงจากปัญหาราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มสูงขึ้น

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (12 มิ.ย.) ถ้าไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ที่ประชุมน่าจะยัง “คง” ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% เช่นเดิม ซึ่งเราดูแล้วจังหวะและโอกาสการลดดอกเบี้ยที่ดีสุดอาจจะผ่านพ้นไปแล้ว ที่สำคัญหาก กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมครั้งนี้ น่าจะยิ่งเพิ่มความสับสนให้กับตลาด เพราะเดาใจ กนง. ไม่ออกเลยว่ากำลังคิดอะไรอยู่

สาเหตุที่กล่าวเช่นนั้น เพราะถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาล่าสุด เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.5% แม้เป็นตัวเลขการเติบโตที่น่าผิดหวัง เนื่องจากต่ำแบบรั้งท้ายอาเซียน แต่ก็เป็นตัวเลขที่ดีกว่าการคาดการณ์ของ กนง. และที่สำคัญไปกว่านั้น ตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ค. 2567 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว มีอัตราการขยายตัวถึง 1.54% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน 

จากข้อมูลที่ยกมา ถ้าวันนี้ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็อาจจะดูแปลกประหลาด เพราะตั้งแต่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ต่อเนื่อง แถมเงินเฟ้อยังติดลบหนักๆ แต่ กนง. ตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมมาตลอด ในขณะที่ตัวเลขปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มดีกว่าคาดการณ์ เงินเฟ้อก็เริ่มกระโดดขึ้น ถ้าไปปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะตอบคำถามของสังคมอย่างไร ที่สำคัญยังอาจทำให้ตลาดยิ่งเกิดความสับสนไปด้วย เราจึงมองว่าโอกาสและจังหวะการลดดอกเบี้ยที่ดีสุดอาจผ่านพ้นไปเรียบร้อย 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไปเราเชื่อว่า จะกลายเป็นความยากของการทำนโยบายการเงิน เพราะดูแล้วถ้าเงินเฟ้อยังขยับขึ้นแรงจากปัญหาราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจระยะข้างหน้า มีแนวโน้มว่ายังไม่สดใสนัก เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยอาจเผชิญกับภาวะ “Stagflation” ซึ่งเป็นภาวะที่เศรษฐกิจชะลอแต่เงินเฟ้อสูง ภาวะแบบนี้ไม่มีธนาคารกลางประเทศไหนชอบใจนัก เนื่องจากการแก้ปัญหาทำได้ยากมาก ซึ่งก็เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์บางแห่งออกมาประเมินแล้วว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะ Mild Stagflation หรือเป็นภาวะ Stagflation แบบอ่อนๆ ได้เช่นกัน

โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยเวลานี้ เชื่อว่า กนง. ทั้ง 7 ท่าน น่าจะทราบดี ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ปัญหา การลดดอกเบี้ยอาจไม่ตอบโจทย์ดังกล่าว แต่ในกรณีที่ดอกเบี้ยสูงเกินกว่าศักยภาพที่ภาคธุรกิจไทยจะรับได้ ปัญหาที่ตามมา คือ “หนี้เสีย” เวลานี้ข้อมูลต่างๆ สะท้อนชัดว่า ปัญหาดังกล่าวเริ่มจะลามไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น เมื่อ กนง. เสียงส่วนใหญ่ยืนกรานมาตลอดว่า ดอกเบี้ยนโยบายไม่ควรลด เราก็คาดหวังว่าพวกท่านจะมีมาตรการที่ดีมาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไม่ให้ล้มพังลงมา เพราะเวลานี้ปัญหาดังกล่าวดูเปราะบางซะเหลือเกิน!