เปิดเวที รัฐ-เอกชน ถอดบทเรียนเสริมแกร่ง SME ไทย ต้องก้าวข้าม 3 เมกะเทรนด์โลก
เมกะเทรนด์โลก 3 เรื่อง ได้แก่ ESG, Digital และ Geopolitics เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของผู้ประกอบการ SME ไทย ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อยู่ในช่วงชะลอตัว ซึ่งหากไม่เร่งปรับก็อาจมีโอกาสขยายตัวต่อได้น้อยลง
โดยภายในงานเสวนา “Smart SME 2024: Empowering the Next Wave” จัดโดย Post Today วันที่ 12 มิ.ย.2567 ซึ่งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรายใหญ่มาร่วมถอดบทเรียนและวิเคราะห์ผู้ประกอบการ SME จากมุมมองและการทำงานร่วมกับอย่างใกล้ชิดในช่วง ”เติมพลังเสริมแกร่ง SME”
นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า 3 เมกะเทรนด์ ซึ่งประกอบไปด้วย 1.การใช้โมเดล ESG พัฒนาธุรกิจิย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบัน SME ที่เล็งเห็นความสำคัญ และเริ่มนำหลัก ESG ไปปรับใช้นั้นมีเพียง 14% ขณะที่อีก 74% ยังขาดการรับรู้ ขาดความเข้าใจที่จะนำมาปรับใช้ในโมเดลธุรกิจของตน ซึ่งในอนาคตธุรกิจใดที่ไม่นำหลัก ESG มาปรับใช้ จะส่งผลกระทบในเรื่องภาพลักษณ์ การขยายตลาด การดำเนินกิจการ แกนหลักธุรกิจ ไปจนถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
2.การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่งภาคธุรกิจยังถือว่ามีการปรับตัวได้น้อยกว่าผู้บริโภคที่ปรับใช้เทคโนโลยีมากขึ้นหลักจากช่วงโควิด ซึ่งประโยชน์ของการนำดิจิทัลมาปรับใช้จะช่วยสร้างประโยชน์ต่อ SME ในหลายด้าน เช่น Digital Marketing กระบวนการภายใน ระบบจัดซื้อ ไปจนถึงการทำ Data analytic และ R&D
3.ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ซัพพลายเชนมีความอ่อนไหวสูง ซึ่งอาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่ได้รับโอกาสในการเติบโตโดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้รับอานิสงค์มาก
ส่งออกเป็นโอกาสใหม่
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กล่าวว่า การจะยกระดับรายได้ของประเทศการ “ส่งออก” ถือเป็นกุญแจสำคัญ อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกยังมีผู้เล่นหลักเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่ารายย่อย ซึ่งผู้ประกอบการ SME ส่วนมากยังเข้าไม่ถึงกลไกที่จะพาพวกเขาให้ออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ โอกาสที่ผู้ประกอบการจะมีมากขึ้นเมื่อขยายตลาดไปต่างประเทศมีหลายด้าน ทั้งการเข้าถึงตลาดและกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น มีความหลายหลายมากขึ้น อาทิ กลุ่มผู้มีรายได้สูง ตลาดฮาลาล กลุ่มสูงวัย นอกจากนี้การก้าวสู่การเป็นส่งออกยังจะทำให้มีผลประกอบการที่ดีกว่า หากสามารถอยู่รอดได้ก็จะทำให้บริษัทมียอดขายและผลกำไรมากกว่าตลาดในประเทศถึง 3 เท่า
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SME ไทยยังต้องเผชิญความท้าทายอยู่มากเนื่องจากส่วนมากยังคงขาดความรู้เกี่ยวกับการส่งออก ความเข้าใจในตลาด ขาดแหล่งเงินทุน และไม่มีการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนกลุ่มที่มีการส่งออกอยู่แล้วก็ยังมีความท้าทายและการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่ยังขาดการพัฒนาสินค้านวัตกรรม หรือสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งมี SME ไม่ถึง 1% ที่มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้โปรดักส์บางตัวก็ยังไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลก อาทิ การตรวจสอบเรื่องคาร์บอนฟุตปริ้นส์
ทั้งนี้ EXIM BANK ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐ และสนับสนุน SME ให้พร้อมก้าวสู่เวทีโลก ด้วยการเติมความรู้ โอกาส และทุน ไปจนถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร
ขณะนี้เรามีการส่งเสริมด้านสินเชื่อสีเขียว และกำลังทำอยู่ระหว่างการพิจารณาสินเชื่อ IGNITE THAILAND เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องในหลายอุตสาหกรรมให้ขยายตัวเพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวต่อไปได้ ตามนโนยบายรัฐ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น
นางสาวปณิตา ชินวัตร รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆจึงทำให้มีโอกาสน้อย ดังนั้น สสว. จึงเน้นส่งเสริมเงินกู้รายย่อยตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท จำนวนไม่มากควาเสี่ยงน้อย ไม่ต้องไปกู้นอกระบบ
เติมระบบออโมชั่นลดต้นทุน
นายนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าส่วนงานการตลาดลูกค้าองค์กรและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม AIS กล่าวว่า เทรนด์ของเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ว่าขณะนี้จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยจะมีอย่างน้อย 6 เรื่อง ที่ดิจิทัลจะเข้ามาดิสรัปผู้ประกอบการ SME ได้แก่ 1.การใช้เทคโนโลยีเอไอ 2.ทักษะของแรงงาน 3.ความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเสี่ยงที่มากขึ้น 4.การใช้ระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์เข้ามาในธุรกิจ 5.การมีซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่น และ 6.การดำเนินธุรกิจด้วยโมเดล ESG
ซึ่ง SME ที่อยู่ในภาคการผลิตจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากช่วงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นจะเพิ่มผลิตภาพในธุรกิจได้อย่างไร การลดต้นทุน การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ และการใช้พลังงานให้น้อยลง
ทั้งนี้ การจะพิจารณาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจะต้องกำหนดโจทย์และปัญหาที่ต้องการให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ และการคำนวณผลตอบแทนที่ไม่สมไม่ว่าจะในแง่ของยอดขายหรือผลกำไร
จับมือโมเดิร์นเทรดโตเร็ว
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินธุรกิจค้าส่งและค้าปลักของ “แม็คโคร” และ “โลตัส” ให้การสนับสนุน SME มากกว่า 2,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งบางรายเริ่มต้นจากการเป็นเกษตรกรที่ขายสินค้าในตลาดสด ไม่มีการสร้างแบรนด์ ซึ่งสามารถเติบโตมาเรื่อยๆ ด้วยการพัฒนาตนเอง เรียนรู้จากพันธมิตร และการสนับสนุนจากห้างค้าส่ง-ปลีก
ซึ่ง 4 องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ SME สามารถเติบโตได้นั้น ประกอบด้วย 1.การมีจุดเด่นและสามารถสร้างความแตกต่างได้ รวมทั้งมีความเข้าใจในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
2.การสร้างพันธมิตรและการพัฒนาจุดแข็งของตนเอง 3.การสื่อสารที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้า และ 4.การบริหารต้นทุนได้ดี
นางศิริพร กล่าวว่า ในฐานะห้างค้าส่ง-ปลึก เราสนับสนุน SME มาตลอดด้วยการเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่เข้าถึงลูกค้าได้มาก นอกจากนี้ ซีพี แอ็กซ์ตร้ายังสนับสนุนในด้านอื่นๆ อาทิ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ และการให้ความรู้เรื่องการตลาด