มองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค 20 ปีที่ผ่านมา (1)
หลังจากที่ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่แสนสาหัสในช่วง 1997-1999 เศรษฐกิจไทยก็สามารถพลิกฟื้นได้ค่อนข้างดีเกินความคาดหมายของผมในช่วงปี 2000-2005 ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1.การส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ กล่าวคือ ช่วงดังกล่าว เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวเฉลี่ย 5.5% ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการส่งออก คิดเป็นเงินดอลลาร์ ขยายตัวเฉลี่ย 12% ต่อปี
2.ประเทศไทย สามารถเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้เฉลี่ยเท่ากับ 5.42% ของจีดีพีต่อปี เพราะต้องคืนหนี้ไอเอมเอฟและหนี้ภาคเอกชนอื่นๆ หนี้ไอเอมเอฟถูกใช้คืนก่อนกำหนดในเดือน ก.ค.2003 ในขณะที่เงินไหลออกเพื่อใช้คืนหนี้เฉลี่ย 1,450 ล้านดอลลาร์ต่อปี
3.การลงทุน คิดเป็นสัดส่วนของ GDP ที่ลดลงอย่างมากในปี 1998-1999 (เพราะก่อนหน้านั้นคนไทยกู้เงินมาลงทุนมากเกินไปและผิดประเภท) ก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้น (เริ่มต้นลงทุนกันใหม่) จากการลงทุนที่คิดเป็นสัดส่วนของ GDP เท่ากับ 22% ในปี 2000 ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็น 28% ของจีดีพีในปี 2005
หลังจากนั้น การเมืองก็เป็นปัญหาใหญ่ที่รุมเร้าเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนานนับ 20 ปี โดยมีการยึดอำนาจและล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและยุบพรรคการเมือง เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฯลฯ
ความยุ่งเหยิงดังกล่าวคงทำให้เสียสมาธิในการมุ่งมั่นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย แต่ก็ยังเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาลในช่วงดังกล่าว ที่ควรจะต้องมองปัญหาให้เห็นและดำเนินนโยบายให้เหมาะสม
ที่สำคัญคือมีการยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ และเขียนในรัฐธรรมนูญให้ต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ และเขียนแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งในความเห็นของผม ก็ยังไม่เห็นว่าได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างที่หลายคนคาดหวัง
แล้วปัญหาเศรษฐกิจมหภาคของไทยคืออะไร? ผมได้สรุปภาพเศรษฐกิจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาให้เห็นในตาราง ซึ่งยอมรับว่ามีตัวเลขมากมาย แต่ขอให้ค่อยๆ อธิบาย และขอให้ดูตัวเลขประกอบดังนี้ครับ
1.ช่วงปี 2005-2011: ช่วงนี้ เป็นช่วงที่ผมมองว่า เศรษฐกิจไทยดูจะยังพัฒนาไปได้ดีอยู่ในระดับหนึ่ง ใกล้เคียงกับที่ได้ทำกันมาในช่วง 5 ปีก่อนหน้า
กล่าวคือ การส่งออก (คอลัมน์ 1) ก็ยังขยายตัวได้สูงถึง 13.5% ต่อปี และยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้มากถึง 3.0% ของจีดีพี (คอลัมน์ 3) และการลงทุนแม้จะลดลงบ้าง ก็ยังเฉลี่ยเท่ากับ 25.6% ของจีดีพี (คอลัมน์ 6)
แต่จะเห็นได้ว่า จีดีพีขยายตัวลดลง เฉลี่ยเพียง 3.4% ต่อปี (คอลัมน์ 4) และเงินทุนไหลออกมากคือ เฉลี่ย 7,010 ล้านดอลลาร์ต่อปี (คอลัมน์ 7)
ช่วงนี้ผู้ที่เป็นรัฐบาลควรจะเอะใจแล้วว่า ประเทศไทยน่าจะมีปัญหาเศรษฐกิจที่ควรได้รับการแก้ไขโดยด่วน คือมีเงินทุนเหลือไหลออก แต่จีดีพีขยายตัวช้าลงลงอย่างชัดเจน
2.ช่วงปี 2012-2016: ปี 2012 เป็นปีที่ไทยฟื้นตัวจากทั้งวิกฤติการเงินของสหรัฐ (ปี 2008-2009) และน้ำท่วมใหญ่ของไทยเองตอนปลายปี 2011 ต่อมามีการยึดอำนาจในปี 2014 และเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ในขณะเดียวกัน มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงของโครงสร้างเศรษฐกิจคือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรายได้จากการท่องเที่ยว
ก่อนปี 2012 ประเทศไทยจะขาดดุลบริการ (คอลัมน์ 2) เสมอมา แต่ได้พลิกมาเกินดุลบริการ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ในปี 2016 ไทยเกิดดุลบริการมากถึง 20,300 ล้านดอลลาร์ และเฉลี่ยปี 2012-2016 ไทยเกินดุลบริการเฉลี่ย 11,700 ล้านดอลลาร์ต่อปี (คอลัมน์ 2)
แต่การเกินดุลดังกล่าวได้ “เบียด” การส่งออกสินค้าของไทยให้ไม่ขยายตัว (คอลัมน์ 1) โดยทำให้ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วน 3.42% ของจีดีพี (คอลัมน์ 3) เมื่อเกินดุล (คือมีรายได้มากกว่ารายจ่าย)
แต่การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอ ก็ทำให้เห็นเงินทุนไหลออกนอกประเทศในปริมาณที่สูงขึ้นไปถึง 8,540 ล้านดอลลาร์ต่อปี (คอลัมน์ 7)
และช่วงเดียวกันนี้ เงินบาทก็เริ่มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินเฟ้อจริงของไทยต่ำกว่าเป้ามาก (นโยบายการเงินตึงเกินไป เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่กำลังพิมพ์เงินภายใต้นโยบายคิวอีอย่างกว้างขวาง)
จะเห็นได้ว่าในปี 2016 นั้น มีเงินไหลออกมากถึง 20,200 ล้านดอลลาร์ คำถามต่อผู้ที่คุมนโยบายคือ ทำไมจึงไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศให้เกิดขึ้น เพื่อ “ใช้” เงินดังกล่าวไม่ให้ไหลออกไปทำประโยชน์ในต่างประเทศ?
การเงินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2016 มากถึง 10.5% ของจีดีพี (คอลัมน์ 3) นั้น หากถูกโน้มน้าวให้นำมาใช้ในประเทศเพียง 1/3 ก็จะทำให้จีดีพีขยายตัวได้มากกว่า 6% ต่อปี
ครั้งต่อไป จะขออธิบายช่วง 2017 ถึงปัจจุบันครับ