‘คลัง’ งัดแผนฟื้นเศรษฐกิจ เร่งงบ - อัดสินเชื่อแสนล้าน
“เผ่าภูมิ” เร่งมาตรการคลังรับเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้น เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินสินเชื่อหลักแสนล้านเข้าสู่ระบบ เล็งปรับโครงสร้างการเงินช่วยผู้กู้รายย่อย ตั้งองค์การมหาชนช่วยค้ำประกันสินเชื่อ หนุนเข้าถึงแหล่งเงินง่าย ตั้งวงเงินใช้หนี้ปี 68 เพิ่ม ลดความเสี่ยงการคลัง
เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกปี 2567 เผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายใน และภายนอกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ทำให้รัฐบาลต้องเร่งใช้มาตรการการคลังออกมาฟื้นความเชื่อมั่น ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเติมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการสินเชื่อที่เริ่มทยอยออกมา ขณะที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว และปัญหางบประมาณเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าควบคู่กัน
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีปัญหา และมีลักษณะที่เป็นปัญหาเรื้อรัง เนื่องจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่เหมือนขาดสภาพคล่องไปหล่อเลี้ยง
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่สภาวะชะลอตัวเกิดจากเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้ลงสู่ระบบ เพราะกระบวนการงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้ไม่เกิดการลงทุนใหม่ และไม่มีเม็ดเงินที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ขณะเดียวกันมาตรการทางการเงินไม่เข้ามาช่วยส่งเสริม ซึ่งยืนยันตลอดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันไม่อยู่ระดับเหมาะสมกับเศรษฐกิจ เมื่อทุกคนอยู่สภาวะเฝ้ารอดูสัญญาณจะเกิดอะไรขึ้นทำให้การจ้างงานการผลิตไม่เกิดขึ้น
“เราอยู่สภาวะมาตรการทางการคลังไม่มีกระสุนเพราะก่อนหน้านี้งบประมาณยังไม่ประกาศใช้ ส่วนมาตรการ การเงินมีกระสุนแต่ไม่ยอมยิง เม็ดเงินทั้ง 2 ส่วนที่ไม่ลงระบบทำให้เศรษฐกิจไม่เคลื่อนไหว เสมือนน้ำที่อยู่นิ่งปัญหาความเชื่อมั่นจึงตามมา”
นอกจากอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นปัญหาจากมาตรการ การเงินแล้ว ยังมีความเข้มงวดปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ยิ่งซ้ำเติม ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจทำให้แบงก์ระวังปล่อยสินเชื่อ เม็ดเงินที่ควรลงสู่ระบบไม่เกิดขึ้น
นายเผ่าภูมิ อธิบายว่า สภาพคล่องระบบการเงินที่แห้งแล้งกระทบเฉพาะกลุ่ม โดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงต่ำได้รับรีไฟแนนซ์และกู้ต่อได้ ขณะที่ SME มีภาวะสินเชื่อหดตัวทั้งที่เป็นกระดูกสันหลังเศรษฐกิจประเทศที่จ้างงานมาก ซึ่งภาวะการเข้มงวดปล่อยสินเชื่อเกิดขึ้นทั้งแบงก์พาณิชย์ และแบงก์รัฐ
ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติสินเชื่อสนับสนุน SME ได้แก่ สินเชื่อ Ignite Thailand โดยธนาคารออมสินวงเงิน 5 พันล้าน และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ (PGS 11) โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงิน 50,000 ล้านบาท และกำลังพิจารณามาตรการสินเชื่ออื่นเพิ่ม
ออมสินเตรียมอัดสินเชื่ออีกแสนล้าน
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ช่วงวิกฤติโควิดอัดเงินเข้าระบบ 5 แสนล้าน แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่เลวร้ายเท่า ดังนั้นเงินที่จะใช้ไม่เท่าจำนวนดังกล่าว แต่จะพิจารณาเงื่อนไขให้สินเชื่อเข้าระบบเร็วสุด และมีเงื่อนไขน้อยสุด สำหรับมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยธนาคารออมสินวงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติของบอร์ดธนาคารออมสิน โดยจะไม่ใช่งบประมาณรัฐ
ส่วนความกังวลหนี้เสีย (NPL) และหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในธุรกิจ SME เป็นปลายเหตุของการเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ เมื่อธุรกิจเข้าไม่ถึงสินเชื่อจึงเริ่มขาดสภาพคล่อง และไม่ใช่แค่ธุรกิจเดียวแต่หากมีซัพพลายเชนที่กู้ไม่ได้ล้มตายไปกระทบธุรกิจ ดังนั้นต้องอัดสินเชื่อเพื่อให้ทุกคนยืนได้ แต่หากมองว่าเศรษฐกิจแย่จึงระวังปล่อยสินเชื่อกลับยิ่งทำให้แย่ และล้มลงเป็นโดมิโน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพิจารณาว่าปล่อยสินเชื่อมากเกินไปหรือไม่ หรือปล่อยสินเชื่อเสี่ยงเกินไปหรือไม่ ต้องดูเสถียรภาพธนาคารที่มีตัวชี้วัด อาทิ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง อัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม
ขณะนี้แบงก์พาณิชย์ และแบงก์รัฐมีสถานะแข็งแกร่งมาก ถามว่าอยู่ภาวะเสี่ยงหรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ใกล้เลย และยังยึดเสถียรภาพเป็นหลักจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องร่วมขจัดวิธีคิดนี้ให้หมด
"จำนวนเม็ดเงิน และการหมุนเวียนของเม็ดเงินเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลอัดเงินได้ 2 กรณี คือ งบประมาณ และการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการทำอย่างหลังง่ายกว่าเยอะ"
ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำคัญ
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวมีความสำคัญเสมอมา และต้องไม่ละเลย แต่เหตุผลที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพราะหากเศรษฐกิจไม่น่าสนใจ ไม่มีกำลังซื้อ การวางแผนในอนาคตจะไม่รอด
โดยกระทรวงการคลัง มีโครงการที่ผลักดันเรื่องการปรับโครงสร้างระยะยาว ได้แก่ การสนับสนุนธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) และโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อการออมในวัยเกษียณที่ผ่านบอร์ดกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แล้วเตรียมเข้า ครม.เร็วๆ นี้
ตั้งองค์กรมหาชนประเมินปล่อยสินเชื่อ
นอกจากนี้ เตรียมเสนอการค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ SME เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น โดยตั้งหน่วยงานที่เป็นองค์การมหาชน ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้ SME โดยจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อรับใบค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อ ก่อนขอสินเชื่อสถาบันการเงิน ซึ่งจะแชร์ความเสี่ยงร่วมกันของผู้ขอสินเชื่อเหมือนการซื้อประกัน จึงทำให้มีค่าธรรมเนียมต่ำ ทั้งนี้ กลไกนี้เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปี 2567 คาดการณ์อยู่ที่ 0.7% นั่นหมายความว่าเงินเฟ้อหลุดกรอบล่าง และอยู่ระดับต่ำเกินไป ซึ่งสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ระดับสูงเกินไป และการที่เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำสะท้อนว่าคนขาดความมั่นใจ ไม่จับจ่ายใช้สอย และไม่เกิดจ้างงาน
“มองภาพใหญ่เศรษฐกิจไทยมีลักษณะค่อนข้างฝืดเคือง ไม่เคลื่อนไหว เพราะเงินเฟ้อต่ำ และเม็ดเงินในระบบไม่เพียงพอทั้งจากเม็ดเงินภาครัฐ และภาคการเงินไม่ลงสู่ระบบ”
บาทอ่อนส่งผลดีต่อ “ภาคส่งออก-ท่องเที่ยว”
ทั้งนี้ ข้อห่วงกังวลของ ธปท.เรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า และส่งผลต่อผู้นำเข้า โดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่ส่งผ่านต้นทุนค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งมองว่าช่วงเศรษฐกิจไม่ดี และเงินบาทอ่อนไม่น่ากลัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว
ขณะที่ความกังวลเงินทุนไหลออกเพราะความต่างของอัตราดอกเบี้ยไทย และต่างประเทศเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเงินร้อน (Hot Money) ที่มาเก็งกำไร แต่สิ่งที่อันตรายกว่าคือ เงินทุนระยะยาวที่ไหลออก หากนโยบายดอกเบี้ยไม่เหมาะกับเศรษฐกิจ นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดี และไม่น่าลงทุนจะทำให้ผู้มาลงทุนสร้างโรงงานไม่มั่นใจ และย้ายถิ่นฐานการผลิต
“เห็นภาพเงินทุนระยะยาวไหลออกบ้างแล้ว สะท้อนจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เกิดการย้ายโรงงาน การที่นักลงทุนมองว่าไทยไม่น่าดึงดูด เพราะเศรษฐกิจในประเทศไม่ตื่นตัว”
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.มองอัตราดอกเบี้ยอิงต่างประเทศมากเกินไป ขณะที่ชาติมหาอำนาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับสูง เพราะเงินเฟ้ออยู่ระดับสูง ซึ่งตรงข้ามไทยที่เงินเฟ้อต่ำ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องสื่อสารกับ ธปท.
เล็งปรับกรอบเงินเฟ้อ ชี้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาปรับกรอบเงินเฟ้อให้เหมาะสมว่าจะใช้กรอบ 1-3% หรือกำหนดเป็นค่ากลางที่ 2-2.5% โดยกำลังหารือ ธปท.ซึ่งยังไม่สรุป แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การระบุกรอบเงินเฟ้อแต่ไม่ทำตามกรอบ และไม่มีกระบวนการลงโทษ
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2567 มีความหวัง และมีแนวโน้มดีขึ้น และฟื้นตัวจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเกินกว่าเป้าหมาย การเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต และงบประมาณ 2568 ที่จะเริ่มเข้าระบบเดือนต.ค.โดยตั้งงบประมาณจ่ายคืนหนี้เพิ่มอัตรา 2.5-4.0% ของวงเงินงบประมาณรวม ซึ่งเป็นการจ่ายหนี้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง
“เป้าหมายที่จะขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจระยะยาว 5% ยังคงอยู่ ซึ่งจะต้องพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ และเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่จะต้องทำอย่างจริงจัง โดยกระทรวงการคลังทำงานเต็มที่ และพยายามจะมีมาตรการทางการคลังออกมาอย่างต่อเนื่อง”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์