"กัปตันอเมริกา"ที่ไร้วินัย...โปรดระวัง
สำหรับผู้ที่เติบโตมากับภาพยนตร์ของมาร์เวล หนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่ที่ผู้เขียนชื่นชอบคือ “กัปตันอเมริกา” ยอดมนุษย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ มีวินัย มุมานะไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค จนซูเปอร์ฮีโร่อื่นยกให้เป็นผู้นำ แม้จะไม่แข็งแกร่งที่สุดก็ตาม
แม้ภาพในปัจจุบันของสหรัฐจะห่างไกลกับความเป็นกัปตันอเมริกา แต่อย่างน้อยในเชิงเศรษฐกิจ และในเชิงความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์ ทำให้ภาพความแข็งแกร่งของกัปตันอเมริกายังคงอยู่ ในประเด็นเศรษฐกิจจะเห็นว่าในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เริ่มลดดอกเบี้ยลงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา สวีเดน และยูโรโซน
แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กลับเลื่อนแผนการลดดอกเบี้ยออกไปอีกครั้ง โดยแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐจะสูงขึ้นสูงกว่าประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ (ที่ 5.25-5.50%) และอัตราเงินเฟ้อก็กำลังลดลง (ปัจจุบันอยู่ที่ 3.4% ลงจาก 9.1% ใน 2 ปีก่อน) แต่คณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed ก็คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% ในปีนี้
การที่ Fed ยังคงดอกเบี้ยอยู่สูง ท่ามกลางการลดดอกเบี้ยของประเทศอื่นๆ เป็นเพราะการเติบโตที่แข็งแกร่งของสหรัฐเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อ่อนแอกว่า แต่สิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับสหรัฐก็คือการที่ตลาดการเงินสหรัฐมีภูมิคุ้มกันต่อภัยคุกคามจากความผิดปกติทางการเมืองและความอ่อนแอทางการคลัง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในจุดอื่นๆ ของโลก
ตามการคาดการณ์ล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป เศรษฐกิจของยูโรโซนจะเติบโต 0.9% ในปี 2567 ขณะที่แบบจำลองเศรษฐกิจปัจจุบัน (GDP-Now) ของ Fed สาขา Atlanta ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเติบโตที่ประมาณ 3.1% ด้านจีนกำลังประสบกับปัญหาวิกฤติอสังหาริมทรัพย์และวิกฤติเงินฝืด
ขณะที่ญี่ปุ่นก็กำลังเผชิญกับภาวะค่าเงินเยนที่อ่อนค่าจนทำให้ธนาคารกลาง (BOJ) เตรียมต้องทำนโยบายการเงินตึงตัวเพิ่มเติม หลังจากที่เพิ่งขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
ส่วนอังกฤษก็กลายเป็นประเทศที่ศักยภาพเศรษฐกิจตกต่ำลง โดยเฉพาะหลังจากที่ประกาศแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ภาพทั้งหมดทำให้สัดส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐในเศรษฐกิจโลกกลับกำลังปรับเพิ่มขึ้นจาก 24% ในปีที่แล้วไปสู่ 25.2% ในช่วงต้นปีนี้ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นๆ
ในประเทศอื่นๆ นักลงทุนต่างวิตกกังวลกับผลการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลมีความอ่อนแอทางการคลัง หลังจากที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ก่อนครบกำหนดถึง 3 ปี พันธบัตรฝรั่งเศสก็ถูกเทขาย
ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศสกับพันธบัตรเยอรมนีที่มองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยก็กว้างขึ้นถึง 75 basis point สูงสุดตั้งแต่ปี 2563
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าฝรั่งเศสจำเป็นต้องเข้มงวดทางการคลังประมาณ 3% ของ GDP เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลัง ไม่ให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นจากปัจจุบันที่ประมาณ 110% GDP (ปัจจุบันขาดดุลงบประมาณ 5.1% GDP)
แต่พรรค National Rally (RN) ของ มารีน เลอแปง ที่ชนะการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปล่าสุดมีแผนที่จะเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อเป็นสวัสดิการประชาชนที่วงเงิน ประมาณ 1 แสนล้านยูโร (1.1 แสนล้านดอลลาร์หรือ 3.6% ของ GDP) ต่อปี
ในเม็กซิโก เงินเปโซอ่อนค่าลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ นับตั้งแต่คลอเดีย ชีนบัม (Claudia Sheinbaum) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้ง
ตลาดของอินเดียร่วงลงหลังจาก นราเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันไม่สามารถได้เสียงเด็ดขาดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นเดือน ทำให้ความเป็นไปได้ของมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันยากมากขึ้น
ด้านการเลือกตั้งของอังกฤษไม่ได้มีผลต่อตลาดการเงินมากนัก นั่นเป็นเพราะผลการเลือกตั้งเป็นที่คาดการณ์ไว้แล้วว่าพรรคอนุรักษนิยมที่เป็นรัฐบาลปัจจุบันมีแนวโน้มจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง และตลาดการเงินของอังกฤษต้องเผชิญกับวิกฤติตลาดตราสารหนี้ที่เกิดขึ้นในปี 2565 จากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัส (Liz Truss)
และไม่นับรวมตลาดหุ้นไทยที่ตกต่ำที่สุดในโลกถึงกว่า 7.7% ในปีนี้ ผลทั้งจากความขัดแย้งของนโยบายการเงินและการคลัง เศรษฐกิจที่โตต่ำที่สุดในภูมิภาค มาตรการภาครัฐที่ไม่ชัดเจน และคดีความทางการเมืองที่ถาโถม
มีเพียงสหรัฐเท่านั้นที่สามารถมองข้ามความไม่แน่นอนทางการเมืองและความอ่อนแอทางการคลังได้ การขาดดุลการคลังในปีนี้ที่ 5.7% ของ GDP บ่งชี้ว่าสถานะทางการคลังของสหรัฐ ไม่ต่างจากกรณีของฝรั่งเศส แม้ว่าจะพิจารณาถึงเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และทำให้รายได้จากภาษีมากขึ้นแล้วก็ตาม
นอกจากนั้น ภาคการคลังสหรัฐยังเสี่ยงมากขึ้นหาก โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง โดยในสมัยแรก ทรัมป์ได้ปรับลดหย่อนภาษีหลายรายการ เช่น (1) ภาษีนิติบุคคลที่ลดอัตราสูงสุดมาอยู่ที่ 21% (ไบเดนจะเพิ่มเป็น 28%) (2) ภาษีบุคคลธรรมดามีอัตราสูงสุดที่ 37% (ไบเดนจะเพิ่มกลับไปเป็น 39.6%)
การลดหย่อนภาษีหลายรายการจะสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี 2568 (เช่น อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีรายได้สูงสุดจะเปลี่ยนกลับเป็น 39.6% จาก 37% เป็นต้น) แต่ทรัมป์จะพยายามลดหย่อนภาษีเหล่านี้อย่างถาวร โดย Congressional Budget Office (CBO) ประมาณการว่าสิ่งนี้จะเพิ่มการขาดดุลประมาณ 350,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในทศวรรษหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับ 1% ของ GDP
ในประเทศส่วนใหญ่ การขาดดุลจำนวนมากโดยเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจถือเป็นความเสี่ยงสำคัญ แต่ในสหรัฐ การขาดดุลการคลังถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นเฟื่องฟู จากความหวังของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก
เศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่ยังไปต่อได้ แม้ว่าจะขาดดุลการคลังมากขึ้นนั้น เป็นเพราะนักลงทุนยังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐ และเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ว่าจะยังเป็นเงินสกุลหลักของโลก (Anchor currency) ซึ่งในทางกลับกันก็ทำให้ทางการสหรัฐทำนโยบายการคลังที่เกินตัวมากขึ้น
เพราะเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐยังเป็นที่ต้องการในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหรือ Safe haven โดยในส่วนรัฐบาลไบเดนก็เพิ่มงบประมาณสวัสดิการเป็นจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลทรัมป์ก็มีแนวโน้มที่จะลดภาษียาวนานขึ้น
หากสหรัฐยังคงทำนโยบายการคลังโดยประมาทเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่วิกฤติการคลัง และวิกฤติศรัทธาในเงินดอลลาร์ เมื่อนั้น โลกจะไร้ซึ่งสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven) ยกเว้นทองคำ และนำไปสู่ความปั่นป่วนทางการเงินทั่วโลก
กัปตันอเมริกากำลังใช้อภิสิทธิ์ของตนอย่างพร่ำเพรื่อ ชาวโลกทั้งหลาย โปรดระวัง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่