มติเอกฉันท์ 38 ชาติ ’OECD‘ รับ ’ไทย‘ สู่กระบวนการเป็นสมาชิกใหม่

มติเอกฉันท์ 38 ชาติ ’OECD‘  รับ ’ไทย‘ สู่กระบวนการเป็นสมาชิกใหม่

สภาพัฒน์ เผยกลุ่มสมาชิก OECD 38 ประเทศ มีมติเอกฉันท์รับไทยสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD Accession Country อย่างเป็นทางการ ชี้เป็นโอกาสไทยมีมาตรฐานระดับโลก ส่งเสริมการเจรจาการค้าอื่นๆ เพิ่มโอกาสของไทยรอบด้าน และย่อมส่งผลบวกให้กับคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทย

รายงานข่าวจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 คณะมนตรี OECD (OECD Council) ซึ่งประกอบด้วย 38 ประเทศสมาชิก มีมติเอกฉันท์เห็นชอบเปิดการหารือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (accession discussion) กับประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญที่ไทยจะมีบทบาทในเวทีโลกและยกระดับประเทศสู่มาตรฐานสากลในทุกมิติ

​ประเทศไทยได้ยื่นต้นฉบับหนังสือแสดงเจตจำนงในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ไปเมื่อเดือนเมษายน 2567 และได้รับเชิญให้เข้าร่วมหารือวาระพิเศษกับคณะมนตรี OECD ซึ่งไทยได้นำเสนอจุดแข็งของประเทศและผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับร่วมกันจากการเข้าเป็นสมาชิกของไทย นับเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งต่อมาคณะมนตรี OECD ได้มีมติเอกฉันท์เปิดการหรือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกกับประเทศไทย จึงทำให้ไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้สมัครที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD (OECD Accession Country) 

สำหรับขั้นตอนถัดไป เลขาธิการ OECD จะจัดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ให้กับประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะระบุขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกและรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ โดยตลอดกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก ประเทศไทยจะต้องดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการ OECD (OECD Committee) อย่างใกล้ชิด ในการปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย (legislation) นโยบาย (policies) และแนวปฏิบัติ (practices) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD เพื่อบรรลุการเข้าเป็นสมาชิก (full member) ในอนาคต

​แม้การดำเนินการร่วมกับ OECD จะมีหน่วยงานภาครัฐเป็นตัวหลักในการดำเนินการ แต่การปรับมาตรฐานภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD นั้น ครอบคลุมมาตรฐานในหลากหลายสาขาและเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนของประเทศไทย เช่น หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม การศึกษา แรงงาน การพัฒนาเชิงพื้นที่ สิ่งแวดล้อม และดิจิทัล เป็นต้น โดยเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยสำเร็จได้ คือการแสดงออกถึงความมุ่งมั่น (willingness) และความสามารถ (ability) ของประเทศไทยในการปฏิบัติตามตราสารทาง กฎหมายของ OECD (OECD legal instruments) รวมทั้งการที่ประเทศไทยมีนโยบายและแนวปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ในการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD เพื่อให้ไทยผ่านการประเมินและสามารถเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยสมบูรณ์

มติเอกฉันท์ 38 ชาติ ’OECD‘  รับ ’ไทย‘ สู่กระบวนการเป็นสมาชิกใหม่


​กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD มีขั้นตอนและแบบแผนที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การเข้าเป็นสมาชิก OECD มิใช่การทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) แต่เป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของไทยในทุกด้านให้ทัดเทียมสากล เนื่องจาก OECD คือองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทนำในการกำหนดมาตรฐานโลก ซึ่งหากไทยได้เข้าร่วมกลุ่มนี้ ก็จะทำให้ไทยมีมาตรฐานระดับโลก ส่งเสริมการเจรจาการค้าอื่น ๆ ที่ไทยกำลังดำเนินการ เพิ่มโอกาสของไทยรอบด้าน และย่อมส่งผลบวกให้กับคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยเช่นกัน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานประสานหลักในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย จะเร่งสร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยให้ได้มากที่สุด เพราะการเข้าเป็นสมาชิก OECD มิได้เป็นเพียงเรื่องของภาครัฐ แต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคนที่จะร่วมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถอยู่ในวงโคจรมาตรฐานระดับโลกไปพร้อมกัน

ติดตามข่าวสารการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยได้ที่ bit.ly/43SdmE0