มาริษ เผย ไทยเข้าร่วม BRICS - OECD ต่างชาติตอบรับดี มองไทยมีศักยภาพ
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยินดี ต่างชาติตอบรับดีต่อการที่ไทยสมัครเข้าบริกส์ (BRICS) และโออีซีดี (OECD) และมองไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างสมาชิกกลุ่มบริกส์ (BRICS) กับประเทศกำลังพัฒนา ที่เมืองนิจนีนอฟโกรอด ประเทศรัสเซีย ถึงเหตุผลที่ไทยต้องการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ว่า บริกส์เป็นประเทศตลาดใหม่ซึ่งมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูง และมีศักยภาพในการผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของโลก ไทยมองว่าหากสามารถเป็นสมาชิกและร่วมทำงานกับประเทศบริกส์ บทบาทของประเทศไทยจะชัดเจนมากขึ้น และจะสามารถปกป้องผลประโยชน์ของไทยทั้งในฐานะประเทศกำลังพัฒนา และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้
เมื่อถามว่าไทยได้อะไรจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีฯ กล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดคือไทยได้ประกาศตัวเองและแสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศบริกส์ ไทยไม่ได้มองการเข้าเป็นสมาชิกบริกส์ว่าเป็นการเลือกข้าง หรือมองว่าบริกส์เป็นการรวมกลุ่มที่จะไปคานอำนาจใคร รัฐบาลไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) และบริกส์ เพราะต้องการทำให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้น และต้องการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยเพื่อให้สามารถมีบทบาทร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ในการชี้นำหรือวางแนวทางการพัฒนาของประชาคมโลกต่อไป เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและเสมอภาค ไม่ว่าจะกับประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา สอดคล้องนโยบายสำคัญของรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน คือการที่ไทยจะมีบทบาทนำและเป็นผู้เล่นหลักในกลุ่มต่าง ๆ และในการแก้ไขปัญหาของโลกในทุก ๆ ด้าน
“ไทยมีลักษณะพิเศษคือเราเป็นมิตรกับทุกประเทศ และไม่เป็นศัตรูของใคร เราสามารถเป็นสะพานเชื่อมกับประเทศกำลังพัฒนา กับประเทศสมาชิกบริกส์ และยังช่วยเชื่อมบริกส์เข้ากับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศสมาชิกบริกส์มีพลังมากขึ้นในการเจรจาต่อรอง เพื่อให้ประชาคมโลกได้เห็นความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่” รมว.มาริษ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังไทยแสดงความจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกบริกส์และโออีซีดี ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง รัฐมนตรีมาริษ เผยว่า ผลตอบรับดีมาก ทุกประเทศที่ได้พบยืนยันการให้การสนับสนุนกับไทยเป็นลำดับต้น ๆ และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และศักยภาพที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ ทำให้ไทยค่อนข้างอยู่ในสถานะที่ดีมากกว่าประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ
นอกจากการเข้าไปร่วมกับประชาคมบริกส์แล้ว ในเรื่องทวิภาคีไทยยังได้ประโยชน์อย่างมหาศาลและประเทศอื่น ๆ ที่ได้พูดคุยต่างอยากทำงานกับไทยในกรอบพหุภาคีด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือทวิภาคีผลักดันให้ไทยมีสิทธิมีเสียงมากยิ่งขึ้น และเมื่อเสริมกับกลุ่มพหุภาคีที่เป็นเพื่อน จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการผลักดันนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศไทยกับประเทศสมาชิกไปในทิศทางที่ถูกต้อง และจะทำให้ได้รับความยุติธรรม รวมถึงได้รับการยอมรับจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมากยิ่งขึ้น