'คลัง' เข็นมาตรการฟื้น 'ตลาดหุ้น' จ่อเคาะ 'กองทุนระยะยาว' หนุนการลงทุน

'คลัง' เข็นมาตรการฟื้น 'ตลาดหุ้น' จ่อเคาะ 'กองทุนระยะยาว' หนุนการลงทุน

“คลัง” มั่นใจเชื่อมั่นตลาดหุ้นฟื้น “พิชัย” ขอเวลาทำงานอีกนิด ก่อนออกชุดมาตรการ ดันกองทุนลักษณะ LTF แต่เปลี่ยนชื่อใหม่ “จุลพันธ์” พร้อมปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG ขยายลิสต์หุ้น ถือครองสั้นกว่า 10 ปี “เฟทโก้-สมาคม บลจ.” ขอนัดพบ รมว.คลัง ยื่นเสนอกองทุนภาษี หนุนหุ้นไทยคึกคัก

ความเคลื่อนไหวดัชนี SET Index วันที่ 18 มิ.ย.2567 ไม่สามารถยืนเหนือระดับ 1,300 จุดได้ โดยปิดตลาดดัชนีอยู่ที่1,297.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.82 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) 38,015.41 ล้านบาท โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติ “ขายสุทธิ” 1,740.94 ล้านบาท ซึ่งหลังจากมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีแผนที่เพิ่มความเชื่อมั่นตลาดหุ้น

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงภาวะตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยรัฐบาลจะมีมาตรการที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นแน่นอน และจะทยอยออกมาเป็นช่วงๆ

“ตลาดหุ้นจะดีขึ้นแน่นอนครับ ขอเวลาอีกนิดนึง มาตรการต่างๆจะไล่กันออกมา” นายพิชัย กล่าว

ส่วนมาตรการที่เป็นกองทุนหุ้นระยะยาวเหมือนที่เคยมีมาตรการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund: LTF)

จะมีออกแน่นอนแต่จะเปลี่ยนชื่อใหม่ ส่วนมาตรการจะถือครองนานแค่ไหนอยู่ที่จะออกแบบว่าอยากให้เป็นการเก็บออมในหุ้น (Saving) หรือไม่ ถ้าให้เป็น Saving จะต้องถือยาว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการและกลไกที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนและเรียกความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย ไม่ว่าจะเป็นการตั้ง LTF หรือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG Fund) ซึ่งต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้อย่างคุ้มค่ากับเงินที่จะลงไปในตลาดทุน

ทั้งนี้ สถานการณ์ตลาดทุนไทยในปัจจุบันยังมีปัจจัยกดดันในเรื่องความเชื่อมั่นในระยะสั้น แต่ไม่ได้กระทบต่อปัจจัยพื้นฐาน เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปทีละเรื่องก็เชื่อว่าความมั่นใจในตลาดจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นจึงไม่กังวลในเรื่องของความผันผวนในระยะสั้นมากนัก แต่ในฐานะรัฐบาลจะต้องเข้ามาดูเรื่องโครงสร้างระยะยาวในการเติบเงินหมุนเวียนในตลาดทุน

“ตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับมาเป็นบวกแล้ว พอมีข่าวเรื่องของอดีตนายกรัฐมนตรีออกมา อย่างที่บอกว่าเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นระยะสั้น ซึ่งคงไม่ออกมาตรการเนื่องจากการแกว่งตัวในระยะสั้น พอผ่านพ้นการวินิจฉัยไปทีละเรื่อง เคลียร์ไปทีละเรื่องก็จะกลับสู่ระดับปกติ โดยกลไก 2 ตัวข้างต้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและต้องใช้เวลา”

รอเคาะรูปแบบกองทุน LTF-ESG

ทั้งนี้โดยพื้นฐานกองทุนรวมหุ้น LTF และ Thai ESG มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งกองทุน Thai ESG จะรวมเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นมาตรการที่จะออกมาจะเลือกเพียงตัวใดตัวหนึ่ง โดยจะพิจารณาปรับเงื่อนไข 2 เรื่อง คือ 

1.ความครอบคลุมของหุ้นที่อยู่ในกองทุน โดยจะขยายขอบเขตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนให้กว้างขึ้น เพราะลิสต์ที่เคยทำยังไม่ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

2.การวางกรอบระยะเวลาให้เหมาะสม เนื่องจากในระยะแรกที่มีการออกกองทุน Thai ESG ระยะเวลาค่อนข้างสั้นทำให้หลายคนเข้าร่วมไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องวางกลไกที่เหมาะสม

“สำหรับเรื่องระยะเวลาการถือครองคาดว่าจะกำหนดให้สั้นกว่า 10 ปีแน่นอน เพราะถ้านานเกินไปจะไม่จูงใจนักลงทุน อย่างไรก็ตามในตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด”

ทั้งนี้ LTF เป็นกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพในระบบตลาดทุนไทย ซึ่งเงินลงทุนใน LTF สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทิน

โดยการซื้อกองทุน LTF เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2562 ปัจจุบันมีกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มาแทน ขณะที่กองทุน Thai ESG เป็นกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ในไทยที่มีโครงการโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืน และต้องได้รับการรับรอง SET ESG Ratings ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่น้อยกว่า 80% ของทรัพย์สินสุทธิ

โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องลงทุนเป็นเวลา 8 ปีขึ้นไปนับจากวันที่ลงทุน ทั้งนี้กำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนจะไม่เสียภาษี

‘เฟทโก้-สมาคม บลจ.’ รอพบ รมว.คลัง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ขณะนี้ FETCO และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ตามแนวคิดของ รมว.คลัง ซึ่งปัจจุบันยังรอทางกระทรวงการคลังนัดวันเพื่อเข้าประชุมหารือกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการ FETCO เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางเฟทโก้ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันกองทุน LTF ตามแนวคิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้วทั้งสมาคมบริษัทจัดการการลงทุน (AIMC) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

โดยทุกฝ่ายมีมติเห็นชอบร่วมกันในแนวทางการนำเสนอกองทุนตามแนวคิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ AIMC ได้ส่งหนังสือเพื่อขอหารือและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว

“มองว่ากองทุน LTF เป็นส่วนหนึ่งช่วยหนุนบรรยาการการลงทุนหุ้นไทยทั้งดัชนีและวอลุ่มได้ ครึ่งปีหลัง วอลุ่มปรับตัวดีขึ้น อีกด้านหนึ่งมองว่า มีโอกาสที่กำไรธุรกิจ บล.จะฟื้นกลับมา”

มั่นใจเงื่อนไขใหม่ตรงใจนักลงทุน

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า ในการประชุม FETCO ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายมีมติเห็นชอบร่วมกันในแนวทางการนำเสนอกองทุนตามแนวคิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 

ทั้งนี้ ได้ส่งหนังสือเพื่อขอหารือและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว และขณะนี้ยังต้องรอนัดเข้าประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป

“ในส่วนรายละเอียดต่างๆ ของกองทุนภาษีที่เห็นชอบร่วมกันทุกฝ่ายในครั้งนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยในขณะนี้ได้ ทั้งวงเงินลดหย่อนภาษี ระยะเวลาการถือครอง รวมไปถึงรายละเอียดอื่นๆ แต่ที่แน่นอนคือ กองทุนภาษีที่นำเสนอรอบนี้เน้นลงทุนหุ้นไทย 100% ซึ่งเราพร้อมสนับสนุนตามแนวคิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ว่าอย่างไรหากได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐ มั่นใจว่าจะตรงใจนักลงทุนและเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยได้แน่นอน”

หนุนฟื้นกองทุน LTF

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวถึง แนวทางผลักดันกองทุน LTF ตามแนวคิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า FETCO มีข้อเสนอทั้งการปรับเงื่อนไขระยะเวลาลงทุนของกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) สั้นลงใกล้เคียงกับกองทุน LTF หรือยกเลิกกองทุน SSF นำกองทุน LTF กลับมาใช้แทนหรือจะเปลี่ยนชื่อกองทุนก็สามารถทำได้

รวมถึงมองโอกาสขอปรับเงื่อนไขระยะเวลาลงทุนกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) สั้นลงจาก 8 ปี และการขยายวงเงินลงทุนเพิมเดิม เพื่อดึงดูดผู้ลงทุนให้สนใจมากขึ้น พร้อมเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ สำหรับกองทุนลดหย่อนภาษี ตามที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้ทำการศึกษาและมาแนวคิดที่นำมาเสนอ เช่น กองทุนเพื่อการออมเงินสำหรับการศึกษาของบุตร เป็นต้น