ส.อ.ท. ชี้ เศรษฐกิจทรุด-หนี้เสียพุ่ง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ พ.ค.67 ร่วง
"ส.อ.ท." หวั่นดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมร่วงต่อเนื่อง แนะรัฐส่งเสริม "เอสเอ็มอี" หนุน "ซอฟต์พาวเวอร์" ไทย ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นพ.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือนเม.ย. 2567 ทั้งยอดขาย คำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ และ นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือนเมษายน 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทัน
เนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ตลอดจนผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในไทยและอาเซียนมากขึ้น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยาก รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หนังและผลิตภัณฑ์หนัง รวมทั้งการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ขณะเดียวกันวิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหารในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทย นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36 - 37 บาทต่อดอลลาร์
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,329 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 61.3% เศรษฐกิจในประเทศ 59.9% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 43.1% ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 66.2% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 60.9 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 35.7% ตามลำดับ
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.7 ปรับตัวลดลง จาก 98.3 ในเดือนเมษายน 2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหา Geopolitics ในตะวันออกกลาง ส่งผลให้เกิดความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และเกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนรอบใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ปี 2567 ภายหลังจาก พ.ร.บ.ประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ และมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ตลอดจนการสนับสนุนให้อบรมสัมมนาจังหวัดเมืองรอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโลว์ซีซั่น
ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย
1. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันและก๊าซ
2. เสนอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทันเนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
3. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ รวมถึงปรับปรุงเงื่อนไขและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้
4. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเฉพาะอาหารไทย เครื่องนุ่งห่มและสินค้ากีฬา เป็นต้น
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids