มองต่างมุม ‘คลัง’ VS ‘แบงก์ชาติ’ กรอบเงินเฟ้อแบบใด เหมาะกับเศรษฐกิจไทย
เปิดต่างมุมมองเศรษฐกิจระหว่าง "คลัง" และ "แบงก์ชาติ" ที่ไม่ลงรอยกันตั้งแต่เรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่คลังกระทุ้งให้ลด แต่กนง.ยังมีมติเสียงข้างมากเพื่อคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%
KEY
POINTS
- คลัง และ ธปท.มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการปรับกรอบเงินเฟ้อ ซึ่งกำหนดไว้ที่ 1-3%
- โดย ธปท.มองว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิข หากปรับขึ้นอาจส่งผลเสีย
- ขณะที่คลังกังวลว่าคาดการณ์เงินเฟ้อปี 67 จะหลุดกรอบเป้าหมายที่ 0.7% สะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินไป
หนึ่งในมุมมองทางด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นอกจากในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่รัฐบาลมองว่าควรลดจากระดับปัจจุบันที่อยู่ที่ 2.5% ต่อปี ขณะที่ธปท.โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เสียงข้างมากยังคงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม
รัฐบาลกับ ธปท.ยังมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของกรอบเงินเฟ้อที่ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ 1-3% ซึ่งรัฐบาลมองว่าควรมีการทบทวนขณะที่ธปท.บอกว่ากรอบเงินเฟ้อในระดับนี้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจไทยแล้ว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่าในเรื่องของกรอบเงินเฟ้อได้คุยกับ ธปท.แล้วและอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันในส่วนของคณะทำงานเพื่อให้ได้กรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ
ผู้ว่าฯธปท.มองไม่ควรรื้อกรอบเงินเฟ้อ
ขณะที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างประเทศว่ากรอบเงินเฟ้อในระดับปัจจุบันนั้นเหมาะสมดีแล้ว ไม่ควรมีการปรับเปลี่ยนเพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยย้ำว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันเหมาะสมกับสถานการณ์และศักยภาพเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ และมีประสิทธิภาพในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
โดยความเสี่ยงของการปรับขึ้นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากช่วง 1 -3% ในเวลานี้ก็คือ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะกระทบกับอัตราดอกเบี้ย และกาารระดมทุนของรัฐบาลและเอกชนได้
เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบอันตรายต่อเศรษฐกิจ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” เกี่ยวกับกรอบเงินเฟ้อว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับกรอบเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ว่าจะใช้เป็นกรอบ 1-3% หรือกำหนดเป็นค่ากลาง ที่ 2-2.5% โดยอยู่ในกระบวนการที่กำลังหารือกับ ธปท. ซึ่งมีแนวโน้มในการศึกษาว่าจะมีการปรับให้เหมาะสม รวมถึงจะมีการเปลี่ยนไปใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือการที่มีกรอบเงินเฟ้อแต่กลับไม่ดำเนินนโยบายการเงินให้เงินเฟ้อเป็นไปตามกรอบเป้าหมาย และไม่มีกระบวนการลงโทษหากไม่สามารถทำได้
ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่จะบอกได้ว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ คือการดูที่อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งธปท.และกระทรวงการคลัง ได้มีข้อตกลงร่วมกันกำหนดให้กรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1-3% ดังนั้นถ้าเงินเฟ้อต่ำกว่า 1% ก็เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเหยียบคันเร่ง แต่ถ้าเกิน 3% ก็ต้องรีบดูดเม็ดเงินออกจากระบบด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เงินเฟ้อต่ำ-ดอกเบี้ยสูง ฉุดเศรษฐกิจ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปี 2567 คาดการณ์อยู่ที่ 0.7% เท่านั้น นั่นหมายความว่าเงินเฟ้อหลุดกรอบล่างและอยู่ในระดับต่ำเกินไป ซึ่งสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และการที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำสะท้อนว่าคนขาดความมั่นใจ ไม่มีการจับจ่ายใช้สอย และไม่เกิดการจ้างงาน
“มองภาพใหญ่เศรษฐกิจไทยมีลักษณะค่อนข้างฝืดเคือง ไม่เคลื่อนไหว เพราะเงินเฟ้อต่ำ และเม็ดเงินในระบบไม่เพียงพอทั้งจากเม็ดเงินภาครัฐและภาคการเงินไม่ลงสู่ระบบ”
ทั้งนี้ ข้อห่วงกังวลของ ธปท. เรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าและส่งผลต่อผู้นำเข้าโดยเฉพาะสินค้าพลังงานซึ่งจะส่งผ่านต้นทุนค่าครองชีพสูงขึ้น มองว่าในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี การที่เงินบาทอ่อนไม่น่ากลัวและเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและดึงดูดการท่องเที่ยวได้มากขึ้น
ไม่กลัว ‘เงินร้อน’ ไหลออก
ขณะที่ความกังวลเรื่องเงินทุนไหลออกเพราะความต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเงินทุนดังกล่าวเป็นเงินร้อน (Hot Money) ที่เข้ามาเพื่อเก็งกำไร แต่สิ่งที่อันตรายกว่านั้นคือเงินทุนระยะยาวที่จะไหลออกไป หากนโยบายดอกเบี้ยไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดี ประเทศไม่น่าลงทุนแล้ว คนที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศเกิดความไม่มั่นใจและย้ายถิ่นฐานการผลิตเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
“ซึ่งตอนนี้เองก็เห็นภาพที่เงินทุนระยะยาวไหลออกไปบ้างแล้ว สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เกิดการย้ายโรงงาน การที่นักลงทุนมองว่าไทยไม่น่าดึงดูด เพราะเศรษฐกิจในประเทศไม่ตื่นตัว”
ชี้แบงก์ชาติมองดอกเบี้ยไทยอิงต่างชาติ
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ยังมองอัตราดอกเบี้ยไทยอิงกับต่างประเทศมากเกินไป ขณะที่สถานการณ์ของชาติมหาอำนาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเนื่องจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งตรงข้ามกับประเทศไทยที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
"เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะต้องสื่อสารกับ ธปท.อยู่เรื่อยๆ ถือว่าเป็นเรื่องการทำงานร่วมกัน" นายเผ่าภูมิ กล่าว