ผู้ว่าธปท.ย้ำจุดยืนผ่านสื่อนอก 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ไม่ใช่เรื่องจำเป็น

ผู้ว่าธปท.ย้ำจุดยืนผ่านสื่อนอก 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ไม่ใช่เรื่องจำเป็น

ผู้ว่าแบงก์ชาติย้ำกับสื่อนอกอีกครั้ง ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเงินหว่าน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' แนะแจกแค่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยคนเดือดร้อนได้ตรงจุดกว่า ลดจาก 50 ล้านเหลือแค่ 15 ล้านคน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท. (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) ยังคงยืนยันมุมมองเดิมที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงิน "ดิจิทัลวอลเล็ต" โดยชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้คาดว่าจะโตประมาณ 4% หลังจากที่เพิ่งโตทุบสถิติใหม่ 7% ในปีที่แล้ว ทำให้ "ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นอุปสงค์อย่างทั่วถึง"

นายเศรษฐพุฒิ เสนอว่า ควรเปลี่ยนจากโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะแจกให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 50 ล้านคน ไปเป็นการช่วยเหลือตรงจุดให้กลุ่ม"ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ที่มีอยู่ประมาณ 15 ล้านคนแทน ก็เพียงพอแล้ว

บลูมเบิร์ก ระบุว่า แม้ความเห็นของนายเศรษฐพุฒิจะสอดคล้องกับมุมมองที่ธปท.เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ แต่การแสดงความเห็นล่าสุดก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความไม่ลงรอยกันระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจ 
 

"ถ้าจะทำจริง ๆ ควรทำให้ตรงจุดและจำกัดวงให้แคบลง เราไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการบริโภคอย่างทั่วถึง" นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ระบุด้วยว่า การบริโภคภาคเอกชนในไทยฟื้นตัวแล้วจากการท่องเที่ยว แต่ครัวเรือนในกลุ่มเสี่ยงและผู้มีรายได้น้อยยังคงได้รับผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากช่วงโควิดและต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น การจำกัดวงจากดิจิทัลวอลเล็ตไปให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดและได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ก่อนนั้น จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในแง่ของวินัยการคลัง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแผนการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาทเผชิญอุปสรรคมาโดยตลอด โดยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญกับคำถามมากมายถึงเรื่องแหล่งเงินทุน ตลอดจนมีการเลื่อนแจกมาหลายรอบแล้ว

แต่แม้ว่าจะเจอเสียงคัดค้านมากมาย นายกฯ เศรษฐาก็ยังเดินหน้าผลักดันโครงการนี้ต่อ โดยย้ำว่านี่คือหนทางที่จะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะซบเซาต่อเนื่องมาหลายปี 

ล่าสุดในวันนี้ (19 มิ.ย.) นายกฯ เศรษฐายังแถลงต่อรัฐสภาด้วยว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะสร้าง "พายุหมุนทางเศรษฐกิจ" ให้เกิดขึ้น และภาษีที่รัฐบาลจะจัดเก็บได้จากโครงการนี้ก็จะถูกนำไปใช้ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน สำนักข่าวบลูมเบิร์กเพิ่งรายงานการให้สัมภาษณ์ของนายเศรษฐพุฒิ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาลที่จะ "ทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ" ว่า ความเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น