ภารกิจหินของรัฐบาล ตัดงบปี 67-68 มาแจกเงินดิจิทัล

ภารกิจหินของรัฐบาล ตัดงบปี 67-68 มาแจกเงินดิจิทัล

ไม่ว่าจะปรับงบประมาณปี 2567 หรือปี 2568 ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกมิติ เพื่อให้การใช้งบประมาณคุ้มค่ามากที่สุด

นับเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 โดยประกาศที่จะขับเคลื่อนนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสการประกอบอาชีพ และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน

นายเศรษฐา ได้ประกาศแจกเงิน 500,000 ล้านบาท ให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป แต่ระหว่างทางเจอปัญหาแหล่งงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการ ถึงแม้ว่าช่วงเริ่มต้นรัฐบาลยืนยันใช้วิธีจัดสรรงบประมาณ แต่พบว่าไม่มีงบประมาณเพียง และพิจารณาออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท แต่ถูกท้วงติงจากหลายหน่วยงาน รวมถึงการให้ความเห็นทางกฎหมายถึงเงื่อนไขการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงทำให้แนวทางนี้ใช้ดำเนินการได้ยาก

ท้ายที่สุดรัฐบาลกำลังพิจารณากลับมาใช้แนวทางหาแหล่งเงินจากงบประมาณปี 2567-2568 โดยหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาปรับงบประมาณปี 2567 ที่อาจต้องใช้วิธีการออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณ เพราะงบประมาณปี 2567 มีระยะเวลาใช้เพียง 6 เดือน จึงอาจใช้งบประมาณไม่หมดและสามารถโอนงบประมาณมาใช้ตามโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลได้ แต่จะต้องออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อปรับหลักการใช้งบประมาณใหม่จากที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบไปแล้ว ซึ่งมีการประเมินวงเงิน 100,000-150,000 ล้านบาท

รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องปรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 เพราะงบประมาณปี 2567 ที่จะโอนมายังไม่เพียงพอที่ใช้แจกประชาชนได้ครบ 50 ล้านคน โดยมีการประเมินว่า ต้องใช้จากปีงบประมาณ 2568 ประมาณ 350,000-370,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า จะตัดงบประมาณจากรายการใดมาแจกประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการตัดงบประมาณลงทุน การตัดงบประมาณกลาง ที่อาจจะกระทบกับแผนการใช้งบประมาณของทั้ง 2 รายการดังกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลอาจใช้วิธีการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ แต่จะกระทบกับแผนสถานะการคลังระยะปานกลาง ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีการปรับแผนครั้งล่าสุดในช่วงปลายปี 2566 โดยกำหนดให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2569-2571 จะขาดดุลงบประมาณลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่ในปีงบประมาณ 2568 กำหนดให้มีการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 713,000 ล้านบาท ดังนั้นไม่ว่าจะปรับงบประมาณปี 2567 หรือปี 2568 ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกมิติ เพื่อให้การใช้งบประมาณคุ้มค่ามากที่สุด