ค่ายรถกระทุ้ง ธปท.แก้ปมสินเชื่อ ปัญหาใหญ่ฉุดตลาดในประเทศ

ค่ายรถกระทุ้ง ธปท.แก้ปมสินเชื่อ ปัญหาใหญ่ฉุดตลาดในประเทศ

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ หารือ ธปท.แจงยอดผลิตยอดขายติดลบหนัก ยื่นข้อเสนอแบงก์ชาติช่วยแก้ปัญหาสินเชื่อถูกตีกลับ ชี้ กำลังซื้อบางกลุ่มยังมี เช่น อาชีพอิสระ แต่แบงก์หว่านแหไม่อนุมัติสินเชื่อ คาดเศรษฐกิจแย่ แบงก์กลัวหนี้เสีย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชิญผู้ประกอบการ และสมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมหารือแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2567

สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เช่น สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วน สมาคมสินเชื่อยานยนต์ สมาคมผู้ประกอบการรถใช้แล้ว

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ชี้แจงให้ ธปท.รับทราบเป็นประเด็นสินเชื่อรถถูกสถาบันการเงินตีกลับ โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศมีส่วนการซื้อด้วยเงินสด 20% และสินเชื่อเช่าซื้อ 80%

ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขาย และยอดการผลิตรถยนต์ในช่วง 4 เดือน แรกของปี 2567 ลดลงมาก โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.- เม.ย.2567 มีจำนวน 518,790 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 17.05%

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า ธปท.เชิญผู้ประกอบการยานยนต์ประชุมเป็นประจำทุกปี เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ โดยการประชุมรอบนี้ประชุมพร้อมกันในรูปแบบ Roundtable

ทั้งนี้ ประเด็นหลักในการหารือครอบคลุมสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งการผลิต การตลาด สินเชื่อ รถมือสอง รวมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) โดยเฉพาะสาเหตุภาวะถดถอยด้านตลาดและการผลิต เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภค และความเข้มงวดของสถาบันการเงิน

ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายระบุว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังมี แต่การที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ มีผลทำให้ตลาดถดถอย แต่ก็เข้าใจได้ว่า สถาบันการเงินก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น หลังจากเกิดภาวะหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาก

"ธปท.ระบุว่าจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไข โดยไม่กระทบทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพ และไม่ให้กระทบการดำเนินการของสถาบันการเงิน" นายกฤษฎา

รวมทั้ง ได้หารือกรณีผู้บริโภคมีกำลังซื้อแต่ไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อ เพราะเป็นกลุ่มอาชีพที่ไม่มีรายได้ประจำ และอยู่นอกระบบภาษี แต่มีจำนวนมาก ดังนั้นหากแก้ปัญหานี้ได้ และจัดทำข้อมูลผู้บริโภคชัดเจนขึ้นจะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เช่น รายได้หรือสินทรัพย์ของผู้บริโภค โดยภาครัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้น และผู้บริโภคผ่านการอนุมัติสินเชื่อ และส่งผลต่อตลาดรถยนต์ดีตามไปด้วย

นอกจากนี้สิ่งที่หารือกันก็คือ เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลตั้งแต่หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดถึงปัจจุบันที่การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐล่าช้าทำให้โครงการใหญ่ภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างเงินหมุนเวียนไม่ได้

 

 

 

รวมถึงได้หารือสถานการณ์การแข่งขันด้านราคา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการมีสต็อกสินค้าเกินความต้องการของตลาด เนื่องจากหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น แต่เมื่อตลาดเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้มีสต็อกเพิ่มจึงต้องเร่งระบายสต็อกออกไป แต่เชื่อว่าจะใช้เวลาอีกไม่นานนัก เมื่อสต็อกเข้าสู่ภาวะสมดุลจะทำให้การแข่งขันด้านราคาจะลดลงไป

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวโน้มการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย GDP ประเทศเติบโตเพียง 1.5% ขณะที่หนี้เสีย (NPL) โตสูงกว่าเศรษฐกิจที่ 3% 

ดังนั้น แต่ GDP ขยายตัว 5-6% จะเห็นทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้น และทำให้สถาบันการเงินมั่นใจปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งปัญหานี้ ธปท.หารือสถาบันทางการเงินในการดูแลเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ

"กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.พูดเรื่องสินเชื่อรถที่ถูกตีกลับมาเป็นปีแล้ว รวมถึงเรื่องของงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าได้กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวม" นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับสัดส่วนการซื้อรถด้วยใช้เงินสด และสินเชื่อแบ่งเป็นการผ่อนกว่า 80% ส่วนประเด็นที่หลายคนบอกว่ากลุ่มอาชีพอิสระแม้จะมีกำลังซื้อแต่ก็ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ เนื่องจากไม่มีหลักประกันมั่นคง เพราะธนาคารจะต้องดูหลักฐานทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงผู้ค้ำประกันด้วย เพราะธนาคารก็ต้องกู้เงินมาเพื่อให้ได้ผลต่าง ซึ่งหากความเสียหายมากกว่าผลต่างก็ขาดทุน

รายงานข่าวระบุว่า หากดูสถานการณ์สินเชื่อรถยนต์ในปัจจุบันถือว่าน่าห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะข้อมูลหนี้เสียและหนี้ค้างชำระสินเชื่อรถยนต์ทั้งระบบ โดยข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) พบว่า ครัวเรือนไทยทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท ในนี้มีสินเชื่อรถยนต์ ที่เป็นหนี้เสียแล้ว 2.38 แสนล้านบาท เติบโต 32%

ทั้งนี้หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และมีหนี้ค้างชำระหรือ (SM) ที่ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 90 วัน อีก 2 แสนล้านบาท และมีหนี้รถยนต์ที่กำลังปรับโครงสร้างอีก 3.9 หมื่นล้านบาท

รวมทั้งหากดูรายละเอียดพบว่า กลุ่มที่เป็นหนี้เสีย และค้างชำระทั้งหมดส่วนใหญ่มาจาก GenY ที่มีหนี้เสียรถยนต์แล้ว 4.15 แสนสัญญา หรือบัญชี ซึ่งคิดเป็นยอดวงเงินรวม 1.28 แสนล้านบาท และกำลังเป็นหนี้เสีย (SM) อีก 2.98 แสนสัญญา หรือ 1.14 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมทั้ง 2 กลุ่มพบว่ามีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย และค้างชำระแล้ว 7.13 แสนบัญชี ซึ่งคิดเป็นยอดสินเชื่อ 2.4 แสนล้านบาท

นางสาวอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า วันที่ 17 มิ.ย.2567 ธปท.เชิญผู้ประกอบการ และสมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมหารือแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกัน

ทั้งนี้การหารือดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อภาวะ และแนวโน้มธุรกิจเท่านั้น ไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องกฎเกณฑ์ หรือ เกณฑ์กำกับควบคุมหรือดูแลธุรกิจยานยนต์แต่อย่างใด รวมถึงมีการอัปเดตสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ในด้านต่างๆ

รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองภาวะ และแนวโน้มธุรกิจแล้ว และได้หารือถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของธุรกิจ อุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้น และการปรับตัวเพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจในระยะข้างหน้า

“การหารือนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โดยการรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการ ของแบงก์ชาติ ที่ทำมาต่อเนื่องกับหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยในการประเมินภาพเศรษฐกิจเพื่อการทำนโยบาย และมาตรการของแบงก์ชาติต่อไป” นางสาวอลิศรา กล่าว

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์