สัญญาณร้ายอุตสาหกรรมยานยนต์ ยอด 'ผลิต-ขาย' ทรุด ธปท. เร่งเช็คอาการ ส.อ.ท.

สัญญาณร้ายอุตสาหกรรมยานยนต์ ยอด 'ผลิต-ขาย' ทรุด ธปท. เร่งเช็คอาการ ส.อ.ท.

อุตสาหกรรมยานยนต์ ทรุดหนัก กำลังการผลิตติดลบมากสุดเมื่อเทียบทุกอุตสาหกรรม ยอดผลิตรถ 4 เดือนแรกปีนี้ ติดลบ 17% ธปท. หารือผู้ประกอบการเช็คอาการซัพพลายเชน รับมือความท้าทายระยะสั้น ส.อ.ท. เผย “แบงก์ชาติ” หวั่นปัญหาเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน-สินเชื่อฉุดยอดขายรถ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เชิญผู้ประกอบการและสมาคมในอุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือแลกเปลี่ยนมุมมองต่อภาวะและแนวโน้มธุรกิจ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2567 

ธปท.ระบุผ่านเฟสบุ๊คชื่อบัญชี “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ว่า การหารือครั้งนี้รวมถึงความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมรองรับความท้าทายในระยะสั้น และการปรับตัวเพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจในระยะข้างหน้า

รวมทั้งการหารือนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการของ ธปท.ที่ทำมาต่อเนื่องกับหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยในการประเมินภาพเศรษฐกิจเพื่อการทำนโยบายและมาตรการของ ธปท.ต่อไป

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์มีผลผลิตที่ชะลอตัวลง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 มีจำนวน 518,790 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 17.05% 

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับยอดขายที่ลดลง เพราะหนี้ครัวเรือนที่สูงและเศรษฐกิจเติบโตในอัตราต่ำ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลมมาหลายเดือน กำลังซื้อยังเปราะบาง

ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกในช่วง 4 เดือน แรกของปี 2567 ผลิตได้ 345,608 คัน คิดเป็นสัดส่วน 66.62% ของยอดการผลิตทั้งหมด เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 2.93% ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ2567 ผลิตได้ 173,182 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ลดลง 35.71%

ขณะที่โดยยอดจำหน่ายรถในประเทศช่วง 4 เดือน แรกของปี 2567 อยู่ที่ 210,494 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 23.9%

กำลังการผลิตยานยนต์ถดถอย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานการใช้อัตรากำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์เดือน เม.ย.2567 อยู่ที่ 47.63% โดยภาวะการผลิตและการจำหน่ายลดลงจากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็กและรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ 

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ดังกล่าว ถือว่าต่ำกว่าการใช้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมในช่วงเดียวกันที่อยู่ระดับ 55.26% ซึ่งการใช้อัตรากำลังการผลิตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถือเป็นความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

นอกจากนี้ สศอ.รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ เดือน เม.ย.2567 เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 6.82% โดยมีปัจจัยจากการหดตัวของตลาดภายในประเทศที่ติดลบ 27.97% ที่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว 

รวมทั้งสถานการณ์กำลังซื้ออ่อนแอจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง การผ่อนชำระมีปัญหา สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เช่นเดียวกับการส่งออกที่ลดลง 6.81% จากรถบรรทุกปิกอัพและรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ตามความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้าปรับตัวลดลง

ในขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 โดยส่วนหนึ่งระบุถึงอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วงมีจำนวนผู้มีงานทำรวม 444,712 คน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 0.1% มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ 47.20 ชั่วโมง เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 2.5%

ส่วนการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 22.8% ซึ่งเป็นภาคการผลิตรายสาขาที่อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงมากที่สุด รวมถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นกลุ่มที่ติดลบมากที่สุด

กังวลเศรษฐกิจฉุดอุตสาหกรรมยานยนต์

นางสาวยุพิน บุญศิริจันทร์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า ธปท.ได้เชิญผู้ประกอบการและสมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือแลกเปลี่ยนมุมมองต่อภาวะและแนวโน้มธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ในการหารือกับ ธปท.เป็นการหารือแบบทั่วไป โดยจะโฟกัสในสภาวะเศรษฐกิจที่มีหลายสมาคมในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็น และแสดงความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะกระทบกับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพราะมีหลายสมาคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง ส.อ.ท.ได้มีการประเมินตัวเลขการผลิตยานยนต์ในทุกเดือนอยู่แล้ว และการหารือครั้งนี้เหมือนทุกครั้งที่มีการรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการผ่านสมาคมต่างๆ ที่ทำมาต่อเนื่องกับหลากหลายอุตสาหกรรม

“อาจจะเพราะในช่วงนี้เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว อุตสาหกรรมยานยนต์อาจจะมียอดขายไม่มาก โดยหลักจะเป็นในเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น เพราะธนาคารต่างๆ มีการเปลี่ยนรูปแบบการปล่อยสินเชื่อ ยืนยันว่าไม่ได้มีประเด็นอะไร” นายสาวยุพิน กล่าว