พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ค.67 บวก 7.2 % มูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดรอบ 14 เดือน

พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ค.67 บวก 7.2 %   มูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดรอบ 14 เดือน

ส่งออกเดือนพ.ค.มูลค่า 26,219 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.2 % ทำมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ดุลการค้ากลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน โดยการส่งออกได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร ภาคการผลิตของโลกฟื้นตัว รวม 5 เดือนส่งออกขยายตัว 2.6%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์  (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  การส่งออกเดือนพ.ค.2567 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้น 7.2% โดยมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน และขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 6.5 %  ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,563.3 ล้าน ติดลบ 1.7 %  ดุลการค้า เกินดุล 656.1 ล้านดอลลาร์  รวม 5 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.- พ.ค.) การส่งออก มูลค่า 120,954.1 ล้าน เพิ่มขึ้น 2.6% การนำเข้า มูลค่า 125,954.1 ล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้น 3.5%  ขาดดุลการค้า 5,460.7 ล้านดอลลาร์

การส่งออกของไทยที่ขยายตัวได้รับแรงหนุนสำคัญจากการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ขณะเดียวกันภาคการผลิตของโลกฟื้นตัวได้ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก (Global PMI) ที่มีทิศทางขยายตัวเร่งขึ้น ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกในเดือนพ.ค.ที่ขยายตัว 7.2 % มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายตัว 19.4 % เป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสินค้าเกษตร กลับมาขยายตัวถึง 36.5 % และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 0.8 % ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว128.0 %  กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน  ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป ไขมัน และน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลไม้กระป๋อง และแปร สิ่งปรุงรส  และนม และผลิตภัณฑ์นม

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว  อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป  น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.7 %

พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ค.67 บวก 7.2 %   มูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดรอบ 14 เดือน

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว  4.6 % โดยมีสินค้าสำคัญขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้ ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง  แผงวงจรไฟฟ้า  เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 2.4 %

ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีทิศทางดีขึ้น และแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก โดยตลาดหลัก ขยายตัว 8.0 %  ขยายตัวในสหรัฐ 9.1 %  CLMV  9.6 %  จีน 31.2 %  แต่ตลาดอาเซียน (5) ติดลบ  0.6 %  สหภาพยุโรป (27)   5.4 % ญี่ปุ่น 1.0 % ส่วน ตลาดรอง ขยายตัว 5.1 % โดยขยายตัวตลาดเอเชียใต้ 22.4 %  ลาตินอเมริกา 14.8 %  รัสเซีย และกลุ่ม CIS  2.7 %  ขณะที่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย  1.4 % ตะวันออกกลาง 8.1% และแอฟริกา 19.0 % สหราชอาณาจักร  1.5 (3) % ขณะที่ตลาดอื่นๆ ขยายตัว 11.5 % เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 28.1 %

" ในเดือนพ.ค.นี้ ไทยกลับมาเกินดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลักๆ มาจากมูลค่านำเข้ารถ EV ลดลง จึงทำให้มูลค่าการนำเข้าโดยรวมของเดือนพ.ค.นี้ลดลง นอกจากนี้เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกผลไม้ พลิกกลับมาเป็นบวกสูงถึง 128% โดยนี้เป็นการส่งออก ทุเรียน 83,059.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14 % แสดงให้เห็นว่า ทุเรียนของไทยยังส่งออกได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีน หลังจากที่ลดลงช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้า เพราะผลผลิตปีนี้ออกล่าช้า แต่พอเดือนพ.ค. ผลผลิตมีเต็มที่ ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น และคาดว่าเดือนต่อๆ ไปก็จะส่งออกได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีทุเรียนภาคใต้ ที่จะเข้ามาเสริม ทำให้มั่นใจว่าไทยยังคงเป็นแชมป์ส่งออกไปจีนเหนือคู่แข่งแน่นอน " นายพูนพงษ์ กล่าว

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในเดือนมิ.ย.คาดว่าน่าจะเป็นบวกต่อเนื่อง และในครึ่งปีแรกคาดว่าจะเป็นบวก  ส่วนแนวโน้มการส่งออกในครึ่งปีหลังคาดว่า จะยังเติบโตได้ดีโดยได้รับปัจจัยหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ช้าแต่มั่นคง โดยการประเมินขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่าปริมาณการค้าโลกจะขยายตัว  2.6 % จากปีก่อนหน้า จากปัญหาเงินเฟ้อที่บรรเทาเบาบางลง และท่าทีของธนาคารกลางแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และการผลิตโลกให้ฟื้นตัวอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในบางเส้นทาง อาจเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งของแต่ละประเทศยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อนโยบายการค้าที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วย ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าการส่งออกทั้งปีไว้ที่ 1-2 %

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า  เป็นห่วงค่าระวางเรือที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น  2 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. โดยเฉพาะเส้นทางที่ไปยุโรป โดยสายเดินเรือส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงเส้นทางทะเลแดง โดยจะอ้อมไปแหลมกู๊ดโฮปแทน ส่งผลให้ระยะเวลาการเดินเรือยาวนานมากขึ้นจากเดิม 1 เดือน เป็นเพิ่มขึ้นอีก 15-20 วัน นอกจากนี้เส้นทางเดินเรือไปยังสหรัฐเช่นกันเนื่องจากการเร่งการส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐ โดยเส้นทางไปยุโรปค่าระวางเรือปรับขึ้นจาก 2,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต เป็น 4,000 ดอลลาร์ต่อตู้ ส่วนสหรัฐจาก 3,400 ดอลลาร์ต่อตู้ยาวเป็น 8,000 ดอลลาร์  ซึ่งคงต้องจับตาสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง คาดว่าในไตรมาส 3 ค่าระวางเรือก็ยังคงสูง

“ส่งออกของไทยยังมีโมเมนตัมที่ดี ถือได้ว่าในเดือนพ.ค.ทำได้ดี คาดในเดือนมิ.ย.การส่งออกของไทยจะมีมูลค่า 24,000-25,000 ล้านดอลลาร์ และในครึ่งปีแรกการส่งออกของจะขยายตัวได้ 2 %” นายชัยชาญ กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์