คนญี่ปุ่น ทุ่มไม่อั้น ช้อปอาหารสุนัข-แมว โอกาสไทยเจาะตลาดเพิ่ม
อึ้ง! ปี 66 สุนัข-แมว ในญี่ปุ่น มีมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และอัตราการเกิดของเด็กต่ำ ทำตลาดอาหารแมว-หมา มาแรง ทั้งคนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ จ่ายค่าอาหารสุนัข-แมว เพิ่ม สคต.ญี่ปุ่น ชี้ช่องโอกาสไทยเจาะตลาดอาหารสุนัขและแมวในญี่ปุ่น
ตลาดการดูแลสัตว์เลี้ยงทั่วโลก (อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง และบริการ) ในปี 2565 มีมูลค่ากว่า 280,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าระหว่างปี 2566 – 2575 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 7 % หรือคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 550,000 ล้านในปี 2575 (ที่มา: Global Market Insights)
ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2565 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับ 6 ของโลก แต่ส่งออกอาหารสุนัขและแมวเป็นอันดับ 3 ของโลกโดยมีมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง 2,803 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 3.36% ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และออสเตรเลีย แม้ว่าในปี 2566 การส่งออกอาหารและสัตว์แล้วจะชะตัวลงเมื่อเทียบกับแม้ว่าจะหดตัวมาตั้งแต่ต้นปี แต่ในช่วงปลายปีเริ่มกลับมาขยายตัว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 2,464 ล้านดอลลาร์ หดตัว13.43 %
เมื่อเจาะลึกในส่วนของอาหารสุนัขและแมว พบว่า ตลาดญี่ปุ่น ถือเป็นตลาดอาหารสุนัขและแมวที่สำคัญของไทย ในปี 2566 ไทยส่งออกอาหารสุนัขและแมวเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ ด้วยมูลค่า 330 ล้านดอลลาร์ แม้จะชะลอตัวแต่ก็ยังขยายตัวได้จากกำลังซื้อสูงและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นที่ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงา
ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองฮิโรชิมากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ปี 2020 ตลาดสินค้าเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.69 ล้านล้านเยนโดยเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ซึ่งมีมูลค่า 1.57 ล้านล้านเยน คิดเป็นอัตราเพิ่ม 7.5 % และจากนั้นมาก็ยังแสดงแนวโน้มขยายตัวเรื่อยมา จนคาดว่าจะถึงระดับ 1.84 ล้านล้านเยนในปี 2024 เพิ่มขึ้นถึง 20.9 % เมื่อเทียบกับปี 2017
สุนัขและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่คนญี่ปุ่นนิยมมากที่สุด สุนัขเคยเป็นสัตว์เลี้ยงอันดับหนึ่งและแมวเป็นอันดับสองจนถึงปี 2014 แต่หลังจากนั้นมา แมวได้ชิงอันดับหนึ่งแทนสุนัข และยังคงแนวโน้มดังกล่าวเรื่อยมา จากผลการสำรวจล่าสุด ในปี 2023 แมวเลี้ยงมีจำนวนประมาณ 9.07 ล้านตัว โดยมีอัตราการเลี้ยงแมว คิดเป็น 8.69 % ของจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้นในญี่ปุ่น โดยมีแนวโน้มอัตราการเลี้ยงที่คงตัว ส่วนสุนัขเลี้ยงมีจำนวนประมาณ 6.84 ล้านตัว มีอัตราการเลี้ยงสุนัข 9.10 % ซึ่งจะเห็นว่ามีแนวโน้มลดลงตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ายอดใช้จ่ายสำหรับสุนัขเลี้ยงมีแนวโน้มลดลง โดยตั้งแต่ปี 2017 มียอดใช้จ่ายต่อปี 1.60 ล้านเยน (4.58 แสนบาท) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนถึงระดับสูงสุดคือ 2.51 ล้านเยน (7.18 แสนบาท) ในปี 2022 แต่ในปี 2023 กลับลดลงเป็น 2.45 ล้านเยน (7.02 แสนบาท)
ในขณะที่สำหรับแมวนั้น เนื่องจากบริโภคอาหารน้อยกว่าสุนัขทำให้มูลค่าการใช้จ่ายต่ำกว่า โดยมียอดใช้จ่ายต่อปีในปี 2017 อยู่ที่ 1.08 ล้านเยน (3.09 แสนบาท) และ ในปี 2023 เพิ่มขึ้นเป็น 1.50 ล้านเยน (4.30 แสนบาท) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะ 7 ปีที่ผ่านมาได้แสดงแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้จ่ายให้กับแมวและสุนัขที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
นางสาวพรรณณี สุวรรณธุ์ปินตัน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองฮิโรชิมา ระบุว่า กระแสการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในโลก ปัจจุบันมีแนวโน้มพัฒนาไปในแนวทางที่เรียกว่า Pet Humanizationกล่าวคือ การที่ผู้เลี้ยงมีพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นเหมือนลูกของตัวเอง และเป็นคนสำคัญในครอบครัว เจ้าของหรือผู้เลี้ยงจึงมักถูกเรียกว่า Pet Parents โดยไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรหรือไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม จะต้องพาสัตว์เลี้ยงของตนไปด้วยและร่วมทำกิจกรรมนั้นๆด้วยกัน เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงพร้อมทุ่มเททุกอย่างในการเลี้ยงดู ตั้งแต่อาหารการกิน ของเล่น เครื่องใช้ และอื่น ๆ
แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นเช่นกันใน ตลาดญี่ปุ่นซึ่งนอกจากจะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงแล้ว ยังเป็นตลาดที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงและอัตราการเกิดของเด็กต่ำ มีสถิติระบุว่าในปี 2023 จำนวนสุนัขและแมวเลี้ยงมีมากกว่าจำนวนเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ดังนั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนในวัยทำงานหรือผู้สูงอายุ จึงมักจะทุ่มเทการใช้จ่ายให้กับสุนัขและแมวของตนเป็นอย่างมาก ทำให้ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่น่าสนใจมากสำหรับสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง
ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 6 สำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง และอันดับ 3 สำหรับอาหารสุนัขและแมว จึงมีศักยภาพสูงในการขยายการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้าอาหารสุนัขและแมวเกรดพรีเมียมและเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง รวมทั้งสินค้าที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะเช่น อาหารสัตว์เลี้ยงเชิงรักษา และอาหารขบเคี้ยว สินค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีโอกาสในการแข่งขันสูง โดยผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องมีการศึกษาและพัฒนาสินค้า ยกระดับและคงคุณภาพความปลอดภัย ติดตามแนวโน้มพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ