"หนี้สาธารณะ"โลกพุ่งรอบ10ปี รัฐเฉือนงบประมาณจ่าย"ดอกเบี้ย"พุ่ง

"หนี้สาธารณะ"โลกพุ่งรอบ10ปี รัฐเฉือนงบประมาณจ่าย"ดอกเบี้ย"พุ่ง

“หนี้สาธารณะ”เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อการพัฒนาผ่านการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่ออนาคต แต่หากหนี้สาธารณะเติบโตเร็วเกินไปจนกลายเป็นภาระของประชาชนและของประเทศการตัดสินใจใช้ “หนี้สาธารณะ”เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศอาจต้องได้รับการทบทวน

รายงาน A world of debt REPORT 2024 : A growing burden  to global prosperity หรือ  รายงานโลกแห่งหนี้ปี 2024 ภาระที่เพิ่มขึ้นจากความรุ่งเรืองของโลก จัดทำโดย  UNCTAD : UN Trade and Development เผยแพร่เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาสาระส่วนหนึ่งระบุว่า ปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนาต้องจัดสรรรายได้ หรือ งบประมาณอย่างน้อย 8% ของเงินที่มีอยู่เพื่อ“การจ่ายดอกเบี้ย” ซึ่งเป็นสัดส่วนรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก่อนหน้านี้ และการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในประเทศต่างๆ 

“หนี้สาธารณะทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ในปี 2566 หนี้สาธารณะ ซึ่งประกอบด้วย หนี้ภาครัฐทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 97 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.6 ล้านล้านดอลลาร์จากปี 2565”

ดังนั้น รายงานนี้จึงเน้นย้ำถึงการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะทั่วโลกที่น่าตกใจและกำลังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องบริหารงบประมาณให้ผ่านภาวะตึงเครียดนี้ไปให้ได้เพราะดอกเบี้ยกำลังสูบเงินของประเทศและของประชาชนไปจากงบประมาณที่ควรใช้ด้านสุขภาพ การศึกษา หรือแม้แต่การดูแลสภาพภูมิอากาศ"

ทั้งนี้ เกิดคำถามถึงสถาปัตยกรรมทางการเงินของโลกที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านการเงินได้จริง เนื่องจากดอกเบี้ยกำลังเบียดเบียนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับประชากรทั่วไป ซึ่งรายงานประเมินว่าจะมีประชากรในประเทศกำลังพัฒนาราว 3.3 พันล้านคนที่ได้รับผลกระทบเพราะต้องกันเงินถึงหนึ่งในสามของเงินที่มีอยู่ไปเพื่อจ่ายดอกเบี้ย"

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามถึงความจำเป็นการเข้าสู่สภาวะการก่อหนี้ก็พบว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาก่อหนี้สาธารณะด้วยการกู้ยืมจากนอกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ก็เพื่อความจำเป็นต่างๆ เช่น การกู้ยืมเพื่อโครงการพัฒนา เหตุผลจากสถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน และความจำเป็นเพื่อลดผลกระทบจากการขาดดุลทางการเงิน และการระบาดใหญ่ของ

โควิด-19 ที่ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง เนื่องจากประเทศต่างๆ ต้องกู้ยืมเงินอย่างกว้างขวางเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสนับสนุนมาตรการด้านสาธารณสุขช่วงก่อนหน้านี้

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้หนี้ต่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งยืมเป็นสกุลเงินต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 15.7% เป็น 11.4 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ครึ่งหนึ่งของมูลหนี้ดังกล่าวนี้อยู่ในประเทศพัฒนาน้อย แต่สิ่งที่น่าตกใจไม่แพ้กันก็คือต้นทุนการก่อหนี้สาธารณะของประเทศต่างกำลังเพิ่มขึ้น

“ยิ่งก่อหนี้ ต้นทุนการกู้ใหม่ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ดูได้จากข้อมูลที่ระบุว่า ในปี 2565 ประเทศกำลังพัฒนาจ่ายดอกเบี้ยสุทธิ 847 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26% จากปี 2564 ทำให้ต้นทุนการกู้เงินของประเทศเหล่านี้สูงกว่าสหรัฐ2-4 เท่า และสูงกว่าเยอรมนี 6-12 เท่า”

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะดูแย่ไปหมดเพราะ ความสัมพันธ์ระหว่างจีดีพีกับสัดส่วนหนี้สาธารณะมีแนวโน้มลดลง โดยเท่ียบค่ากลางในปี 2563ที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 60.4%กับปี 2566 ที่มีสัดส่วนลดลงที่ 54.7% ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ในประเทศแถบเอเชีย

รายงานได้ให้คำแนะนำที่สำคัญเพื่อแก้ปัญหาโดยสรุประบุว่า ให้ช่วยเหลือธนาคารให้สามารถขยายการปล่อยกู้ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันให้เพิ่มความโปร่งใสข้อกำหนดและเงื่อนไขทางการเงิน เพิ่มความยืดหยุ่น

แนวทางการพัฒนากฎเกณฑ์สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้อัตโนมัติภายในโครงสร้างหนี้ทั่วโลกและเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินระดับโลกให้ดีขึ้น รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานด้านหนี้ทั่วโลกเพื่อประสานงานและเป็นแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสม

ประเทศกำลังพัฒนากำลังต่อสู้กับสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศซึ่งความไม่สมดุลที่ยึดที่มั่นทำให้ผลกระทบของวิกฤตที่ลดหลั่นต่อความยั่งยืนรุนแรงขึ้น

สถานการณ์หนี้สาธารณธะในปัจจุบันกำลังชี้ว่า โครงสร้างทางการเงินไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อหนี้ในต้นทุนที่เหมาะสม และยิ่งประเทศกำลังพัฒนาต้องกู้ยืมเงินตราต่างประเทสมากขึ้นก็ควรมีต้นทุนการก่อหนี้ที่เหมาะสมเนื่องจากประเทศเหล่านี้อาจกำลังเผชิญข้อจำกัดของตลาดเงินในประเทศ

“หนี้สินทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเสี่ยงต่อผลกระทบจากภายนอกและความไม่มั่นคงทางการเงิน เช่น เมื่อภาวะการเงินโลกเปลี่ยนแปลง และนักลงทุนต่างชาติต่างก็ไม่ชอบความเสี่ยงนี้นั่งยิ่งทำให้ต้นทุนการกู้ยืมก็พุ่งสูงขึ้นไปอีก นอกจากนี้หากเป็นสกุลเงินของประเทศมูลค่าลดลงการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศอาจพุ่งสูงขึ้นทำให้มีเงินในการพัฒนาด้านอื่นน้อยลงไปน้อยลงไปอีก”

\"หนี้สาธารณะ\"โลกพุ่งรอบ10ปี รัฐเฉือนงบประมาณจ่าย\"ดอกเบี้ย\"พุ่ง