‘คลัง’ เตือนรัฐบาลสกัด 6 จุดเสี่ยงการคลัง เร่งลดขาดดุลงบ ปรับโครงสร้างภาษี
กระทรวงการคลังชง 6 ข้อเสนอให้ ครม.รับทราบ แนะรัฐสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ลดภาระงบประมาณประเทศ แนะทำงบขาดดุลไม่เกิน 3% ของจีดีพี ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ใช้เงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 เท่าที่จำเป็น
ในทุกๆปีงบประมาณกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ จะจัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสังคมและแสดงถึงความโปร่งใสทางการคลัง (Fiscal Transparency)
ในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการประมวลผล และวิเคราะห์การดำเนินงานของหน่วยงานดังกล่าว สามารถชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะการคลัง อีกทั้งยังทำให้รัฐบาลทราบถึงสถานะทางการคลังที่แท้จริง และสามารถบริหารทรัพยากรภาคการคลังได้อย่างระมัดระวัง ซึ่งถือเป็นการรักษาวินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline) ของประเทศ
รวมทั้งเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 78 ที่กำหนดให้ภายในเดือนมี.ค.ของทุกปีให้กระทรวงการคลังจัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้นำเสนอรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2566 เข้าสู่ที่ประชุม ครม.รับทราบแล้ว
สำหรับสถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงรายได้ของประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยสังเขปดังนี้
1.ความเสี่ยงด้านรายได้ โดยความเสี่ยงในอนาคตกระทรวงการคลังพบว่า ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายรัฐบาลได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบาย อุดหนุนราคาพลังงาน เช่น มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน การยกเลิกค่าธรรมเนียม Visa on Arrival
นอกจากนี้ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเมื่อเทียบกับจีดีพีในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ และต่ำกว่ากว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเกิดใหม่
2.ความเสี่ยงด้านรายจ่าย ในระยะปานกลางกระทรวงการคลังคาดว่าสัดส่วนรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ และภาระผูกพัน อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้รัฐบาลยังอาจมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่เพียงพอของรายได้ของประชาชนในวัยเกษียณ
รวมทั้งปัญหาความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว ที่อาจกดดันให้รายจ่ายด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้นกว่าที่ประเมินไว้อย่างไรก็ตามยังถือว่าการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายประจำในส่วนของเงินเดือน เงินสมทบ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐขยายตัวในระดับต่ำทำให้รายจ่ายภาครัฐไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจนเกินเพดาน
3.ความเสี่ยงด้านหนี้ ในระยะปานกลางคาดว่า ความเสี่ยงด้านหนี้ยังอยู่ในขอบเขตที่บริหารจัดการได้แต่มีความเปราะบางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ โดยดัชนีเตือนภัยทางการคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีค่าอยู่ที 2.36 (จากระดับขีดเตือนภัยที่ค่า ปรับตัวลดลงจาก 3.58 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565)
สะท้อนถึงความยืดหยุ่นของพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลได้ ภายใต้ความระมัดระวัง
โดยรัฐบาลยังมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชน/ผู้ประกอบการภายใต้ความเปราะบางของภาคการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น
ในขณะที่เสถียรภาพในตลาดการเงินและความสมดุลทางการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและเงินทุนเคลื่อนย้ายลดลง ซึ่งเป็นผลบวกต่อการดำเนินการกู้ยืมเงินของรัฐบาล
ขณะที่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลางแม้จะอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตแต่เริ่มแสดงทิศทางลดลงและเมื่อเทียบกับปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการควบคุมสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP
คุมกรอบขาดดุลไม่เกิน 3% ต้่อจีดีพี
อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลดระดับการขาดดุลลงให้กลับสู่ระดับปกติ (ต่ำกว่า 3% ต่อ GDP) รวมถึงมุ่งเน้นการก่อหนี้ที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนเป็นลำดับแรก เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะวิกฤตขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
พร้อมทั้งระมัดระวังประเด็นด้านความสามารถในการชำระหนี้จากระดับหนี้คงค้างและแผนการก่อหนี้ใหม่ที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับความสามารถในการจัดเก็บรายได้ (เมื่อเทียบกับ GDP) ที่มีแนวโน้มลดลงช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะวิเคราะห์ และติดตามความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ด้านการปรับโครงสร้างหนี้ และด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด ประกอบการพิจารณากำหนดกลยุทธ์การกู้เงินเพื่อให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป
4.ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยความเสี่ยงด้านสภาพคล่องการเบิกจ่ายยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 539,065 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 84,963 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเบิกใช้เงินคงคลังสำหรับรายจ่ายที่ รายจ่ายตั้งไว้ไม่เพียงพอ รวมทั้งสิ้น 84,602 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังส่วนดังกล่าวไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แล้ว
ประกอบกับในปีงบประมาณ 2566 ได้มีการชะลอการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน70,356 ล้านบาท ออกไปในปีถัดไป โ
โดยรัฐบาลจะพิจารณาถึงความจำเป็นเหมาะสมของการกู้เงินส่วนดังกล่าว ซึ่งหากสภาพคล่องยังอยู่ในระดับที่เพียงพอรัฐบาลอาจพิจารณายกเลิกวงเงินกู้บางส่วนเพื่อลดระดับการก่อหนี้ของรัฐบาลต่อไป
นอกจากนี้ ประมาณการการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 - 2531 ยังอยู่ต่ำกว่ากรอบการกู้ชดเซยการขาดดุลสูงสุดตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ทำให้รัฐบาลยังมีวงเงินกู้เพิ่มเติมรองรับกรณีที่ผลการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการได้ประมาณร้อยละ 3 - 7
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลในการลดความเสี่ยงต่างๆ ทางการคลังในอนาคต รัฐบาลจึงควรมีการพิจารณาดำเนินการดังนี้
ข้อเสนอลดความเสี่ยงการคลัง
1.ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดลดระดับการขาดดุลกลับสู่ระตับปกติ ที่ไม่เกิน 3% ของ GDP เพื่อฟื้นฟูพื้นที่การคลังรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และในการก่อหนี้ ควรมุ่งเน้นไปที่โครงการที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนเป็นลำดับแรก
2. ผลักดันแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและรายได้รัฐบาลอื่นๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้และรองรับรายได้รัฐบาลที่ลดลงจากโครงสร้าง เศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
พร้อมทั้งทบทวนมาตรการยกเว้น/ลดหย่อนต่าง ๆ รวมถึง มาตรการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงาน ให้มีเท่าที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
3.พิจารณาปรับลดรายจ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นลง ผ่านการพิจารณาปฏิรูปโครงสร้างบุคลากรภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปฏิรูประบบสวัสดิการสำหรับประชาชนโดยบูรณาการข้อมูลและการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเข้าด้วยกันเพื่อให้รัฐจัดทำระบบสวัสดิการแบบมีเงื่อนไข (Conditional Transfer) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินโครงการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังๆ เท่าที่จำเป็น
โดยควรจัดลำดับความสำคัญของโครงการและผลักดันโครงการที่มีการดำเนินการเป็นประจำทุกปีและสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณจากกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นลำดับแรก เป็นต้น
4.จัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่มีภาระผูกพันชัดเจนให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการ รวมถึงพิจารณาจัดสรรรายจ่ายชำระเงินต้นให้สอดคล้องกับระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
5.จัดสรรงบประมาณในส่วนที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม ควบคู่ไปกับพิจารณามาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว เช่น การขยายอายุเกษียณและเพดานฐานค่าจ้าง การทบทวนอัตราเงินสมทบ
6.สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และขยายฐานรายได้ภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมทั้งผลักดันให้ อปท. สามารถนำเงินสะสมส่วนเกินมาเป็นเงินทุนในการพัฒนาท้องถิ่นควบคู่ไปกับแหล่งรายได้อื่น ๆ ในปัจจุบัน เพื่อให้ อปท. สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป