ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยสูงขึ้น…จริงหรือ?

ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยสูงขึ้น…จริงหรือ?

สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้รับทราบข่าวดีว่าอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ที่จัดลำดับโดย IMD (IMD World Competitiveness Ranking) ในปี 2567 ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

โดยถูกจัดอยู่ในลำดับที่25 แซงหน้า มาเลเซียขึ้นมาเป็นลำดับที่สองของอาเซียนรองจากสิงคโปร์นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ผู้เขียนสงสัยใคร่รู้ว่า ปัจจัยใดหนอที่ช่วยทำให้ลำดับดีขึ้นเช่นนี้ 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ลำดับที่ประกาศในปี 2567 นี้ อันที่จริงเป็นการเก็บข้อมูลของปี 2566 จึงมี ลักษณะของการสะท้อนภาพของความเป็นไปในปี 2566 ไม่ใช่ปัจจุบันหรือการมองไปข้างหน้าของปี 2567 เมื่อ เจาะลึกเข้าไปถึงปัจจัยทั้ง 4 ด้าน ที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พบว่า ปัจจัยด้านศักยภาพ ทางเศรษฐกิจ และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ มีอันดับที่สูงขึ้น ในขณะที่ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของ ภาครัฐ และปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับคงที่

การจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันฯ ด้วยปัจจัย 4 ด้านดังกล่าว มีการพิจารณาตัวชี้วัดมากกว่า 300 ตัวชี้วัด รวมกัน ‘ตัวชี้วัด’ ของปัจจัยด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอันดับที่ดีขึ้นดังกล่าวประกอบด้วย กลุ่มตัวชี้วัดด้าน ราคา ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่วนกลุ่มตัวชี้วัดที่อันดับลดลง ได้แก่ ด้าน การลงทุนระหว่างประเทศ ผู้เขียนไม่แปลกใจกับอันดับของตัวชี้วัดด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เพราะเมื่อปีที่ แล้ว ผู้อ่านก็คงจะเห็นภาพประมาณนี้เช่นกัน แต่คำถามคือในปี 2567 นี้ กลุ่มตัวชี้วัดเหล่านี้ยังมีความเข้มแข็งอยู่ หรือไม่ และอันดับของการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะลดอันดับ ต่ำลงไปอีกหรือไม่ 

สำหรับปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจที่ถึงแม้จะมีอันดับที่ดีขึ้นในภาพรวม แต่เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดที่สะท้อน ปัจจัยด้านนี้แล้ว พบว่าอันดับของกลุ่มตัวชี้วัดด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ ด้านตลาดแรงงาน และด้าน การเงิน ลดลงกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะกลุ่มตัวชี้วัดทั้งสามนี้ เป็น องค์ประกอบหลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และยังส่งผลเกี่ยวเนื่องถึงการ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศด้วย 

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่มีลำดับคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ พบว่ากลุ่มตัวชี้วัดด้าน กฎระเบียบธุรกิจ และกรอบสถาบัน (Institutional Framework) มีอันดับที่ลดลง ส่วนปัจจัยด้านโครงสร้าง พื้นฐาน พบว่ากลุ่มตัวชี้วัดด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี และด้านสุขภาพและ สิ่งแวดล้อม มีลำดับที่ลดลง ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว นี่คือ ‘สัญญานเตือนภัย’

IMD ได้เคยทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงในประเทศต่างๆ โดยให้เลือก 5 ประเด็นที่เห็นว่าสำคัญ สูงสุดจาก 15 ประเด็น พบว่าในประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ผู้บริหารระดับสูงจะให้ ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้มาก ตามลำดับดังนี้1) โครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้ 2) ความ ต่อเนื่องและแน่นอนของนโยบาย 3) สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการประกอบธุรกิจ 4) สภาพแวดล้อมทาง กฎหมายที่มีประสิทธิผล 5) มีวัฒนธรรมด้านการวิจัยพัฒนาที่เข้มแข็ง และประเด็นที่ตามมาเป็นอันดับที่ 6 และ 7 ได้แก่ แรงงานที่มีทักษะ และการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประชาชน 

หากจะจำกัดกรอบให้แคบลง เพื่อให้เราสามารถมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่าง แท้จริง ผู้เขียนเห็นว่าสามารถเริ่มจากประเด็นทั้ง 7 เรื่องข้างต้นก่อน จะเป็นประโยชน์และเป็นการปูทางไปสู่ ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมได้เมื่อลองทาบกลุ่มตัวชี้วัดของไทยที่มีลำดับลดลง กับประเด็นที่ผู้บริหารฯ ให้ ความสำคัญข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานยังคงต้องมีการลงทุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและน่าเชื่อถือ หรือ reliable infrastructure นั้น หมายถึงคุณภาพของโครงสร้าง พื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ของประเทศ ซึ่งต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษา การยกระดับ และการอำนวยความ สะดวกควบคู่ไป ไม่เพียงการสร้างหรือจัดให้มีเท่านั้น 

สำหรับปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ควรมุ่งเน้นตอบโจทย์ ความต่อเนื่องและแน่นอนของนโยบาย หรือ policy stability and predictability เป็นอันดับแรก เพราะการลงทุนมูลค่าสูงๆ ของภาคเอกชนจะเกิดขึ้นไม่ได้ เลย หากผู้ลงทุนไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับนโยบายของรัฐหลังจากที่ได้มีการลงเงินลงแรงไปแล้ว นอกจากนี้การที่ อันดับของกลุ่มตัวชี้วัดด้านกฎระเบียบธุรกิจ และกรอบสถาบัน ลดลง เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการพิจารณาอย่าง จริงจังและเร่งด่วนเช่นกัน เพราะ 2 กลุ่มตัวชี้วัดนี้ มีควาเชื่อมโยงกับประเด็น สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการ ประกอบธุรกิจ (business-friendly environment) และ สภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่มีประสิทธิผล (effective legal environment) ด้วย 

หลายท่านอาจจะประหลาดใจที่ประเด็น วัฒนธรรมด้านการวิจัยพัฒนาที่เข้มแข็ง (strong R&D culture) มี ความสำคัญอยู่ในอันดับที่ 5 เลยทีเดียว ผู้เขียนขอยืนยันว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างมากต่อศักยภาพของประเทศไทยใน บริบทการค้าการลงทุนโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะไม่สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้นำพาประเทศไปเป็น ประเทศที่ประชากรมีรายได้ระดับสูงได้เลย หากไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนา (Research & Development) ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประเด็นที่ 5 และ 6 เป็นเรื่องของ ศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ซึ่งคงไม่ต้องย้ำกันอีกแล้วว่าเป็นรากฐานที่มีความสำคัญเพียงใดต่อขีด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

ผู้เขียนคงไม่ขอตอบว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสูงขึ้นจริงหรือไม่ แต่ขอพูดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้ว่า เรายังมีอะไรที่ต้องทำอีกมากในการที่จะเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยต่อไป