'WHA' แนะธุรกิจทรานส์ฟอร์มรับเทรนด์โลก ตั้งเป้ามุ่งสู่ 'เทคคอมพานี' ปีนี้
“ดับบลิวเอชเอ” มอง 3 เมกะเทรนด์โลก ดันวิกฤติเป็นโอกาสต่อยอดธุรกิจ ย้ำนักธุรกิจต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรก่อนเพื่อรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลง มุ่งเป้าหมายสู่ "เทคคอมพานี" ในปีนี้
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวในงานสัมมนา “Investment Forum 2024: เจาะขุมทรัพย์ลงทุน…ยุคโลกเดือด” จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ กลยุทธ์ธุรกิจก้าวข้ามวิกฤติ เบ่งกำไร ว่า การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมองเมกะเทรนด์โลก การเคลื่อนย้ายฐานเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเทรนด์มีหลายอย่างแต่ที่เกี่ยวกับ WHA มี 3 เทรนด์สำคัญคือ 1. เทคโนโลยี 2. ซัสเทนอะบิลิตี้ และ 3. ภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งกลุ่มบริษัท จะมองวิกฤติให้เป็นโอกาสต่อยอดธุรกิจ
ทั้งนี้ WHA ดำเนินธุรกิจใน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจโลจิสติกส์ มีพื้นที่เกือบ 3 ล้านตารางเมตร 2. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม หากรวมนิคมอุตสาหกรรมเวียดนามมีพื้นที่รวม 7.7 หมื่นไร่ 3. ธุรกิจสาธารณูปโภค และพลังงาน และ 4. ธุรกิจดิจิทัล ซึ่งกลุ่มบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
"ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีบริษัทในเครือกว่า 70 บริษัท มีมาร์เก็ตแคปรวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท พร้อมกับมีการต่อยอดธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมขยายสู่นิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม และมีการปรับในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ ช่วงเกิดเทรดวอร์จะเห็นการย้ายฐานการลงทุนจากจีน เราเลยมองเวียดนามเป็นเป้าหมายสำคัญ และเตรียมพร้อมด้านดิจิทัลรับการลงทุน”
นางสาวจรีพร กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ WHA จะโชว์เรื่องเทคโนโลยี ที่เน้นความยั่งยืน การมีสินค้าใหม่และบริการใหม่ๆ รวมถึงในเรื่องของกรีนโลจิสติกส์ ดิจิทัลเฮลท์เทคโนโลยี และ AI ถือเป็นการทรานส์ฟอร์เมชั่น เพราะหากไม่ทรานส์ฟอร์มองค์กรล่วงหน้า ไม่มีโซลูชันใหม่จะทำเรื่องของ AI ไม่ได้ ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ ได้ Carbon Neutral แล้ว และตั้งเป้า Net Zero ปี 2050
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท ยังดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเฉพาะรถขนส่ง เพราะจะช่วยประหยัดค่าพลังงานมากที่สุดเพราะต้องวิ่งในระยะทางไกล โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายรวมปล่อยเช่าที่ 1,000 คัน ส่วนการใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำ จะช่วยลดการใช้น้ำใหม่ และการรีไซเคิลสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 90 ล้านบาทต่อปี
อีกทั้ง ยังมีแอปพลิเคชัน Mobilix ช่วยบริหารจัดการโลจิสติกส์ ลดต้นทุนให้ลูกค้ามุ่งสู่ในเรื่องของกรีน บริหารจัดการระบบอีโคซิสเต็มทั้งหมด ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่โดดเด่นจากการย้ายการลงทุนมาในประเทศไทย ซึ่งหลายปีก่อนมีการดึงกลุ่ม EV เข้ามาจนกลายเป็นอีวีฮับ และดึงกลุ่มแบตเตอรี่ ปัจจุบันเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและดาต้าเซนเตอร์ ซึ่งจะเห็นการต่อยอด และรายได้ตามมา
“หลายคนถามว่า ที่ดินตอนนี้ขายดี เราก็โตได้ดีเหมือนกับเวียดดนามเช่นกัน แม้ที่ผ่านมาเมืองไทยอาจโตตามหลังเวียดนามจากเดิมที่เคยแพ้เวียดนาม ซี่งตอนนี้กำลังโต อีกทั้งกลุ่ม WHA มีโรงไฟฟ้ากำลังผลิตรวมในปีนี้ที่ 1,000 เมกะวัตต์ โดยครึ่งหนึ่งจะเป็นไฟสะอาด โดยจะมุ่งเป็นเทคคอมพานีอย่างเต็มรูปแบบในปีนี้”
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ย้ำเรื่องของรถอีวี โดยกลุ่ม OEM เดิมได้ซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเพื่อขยายการลงทุน จึงไม่อยากให้พูดว่า EV 0 เหรียญ อีกทั้งการที่ 8 แบรนด์อีวีที่เข้ามา ก็ยังตามมาด้วยกลุ่มแบตเตอรี่ จึงต้องค่อยๆ สร้าง โดยสิ่งแรกที่ทำคือ การดึงนักลงทุนให้เข้ามาก่อน
นอกจากนี้ การที่นักลงทุนย้ายฐานการผลิต มองว่าเซาท์อีสต์เอเชียเป็นเซฟโซน จึงจะเป็นโอกาสให้กับประเทศไทย เพราะมีอินฟราสตรัคเจอร์ และอีโคซิสเต็มที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการวางแผนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่สนับสนุน และช่วยดึงการลงทุนจากกลุ่มอีวี และจะมีเทคโนโลยีตามมา
"แม้เราจะมีอินฟราสตรัคเจอร์ที่ดีแล้วแต่ก็ต้องดีขึ้น ด้านพลังงานฟอสซิลก็ต้องเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด แม้จะมีต้นทุนก็ต้องเปลี่ยนเพื่อรับความต้องการลูกค้า เพราะลูกค้าต่างดูเรื่องของเทคโนโลยีไม่เหมือนอดีต จึงต้องปรับตัวเพื่อเจอคู่แข่งที่ดีกว่า ถ้าเอสเอ็มอีไม่ปรับแผนธุรกิจก็แย่ขนาดบริษัทใหญ่ยังต้องปรับ อย่าโทษฟ้าดิน หรือโทษรัฐบาล ซึ่งกลุ่มบริษัทมีแอปพลิเคชันกว่า 50 แอป โดยใช้เงินหลัก 100 ล้านบาทเท่านั้น ถือเป็นการสร้างรายได้ใหม่"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์