5 CEO มือทองแห่งปี 67 ดันราคาหุ้นผงาด สวนวิกฤติเศรษฐกิจไทย
5 CEO มือทองแห่งปี 67 ดันราคาหุ้นผงาด สวนวิกฤติเศรษฐกิจไทย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TRUE นำบวกมากสุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม SET100 ผลตอบแทนราคา 1 ปี +23.36% และ YTD +67.33%
ตลาดหุ้นไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยที่เข้ามากระทบหลายด้าน โดย 3 คนดังการเมืองสอดประสานชี้สาเหตุตลาดหุ้นไทยดิ่งจัด ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี รับการเมืองฉุดความเชื่อมั่นตลาดหุ้น ขณะที่ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนนรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุ หุ้นขึ้น-ลง ถือเป็นเรื่องปกติ ด้าน ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้ตลาดหุ้นร่วงสะท้อนเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนและปัจจัยลบรุมเร้าตลาดหุ้นไทย แต่ยังมีหลายหลักทรัพย์ที่ยังคงมีผลงานอัตราการเปลี่ยนแปลงด้านราคาตั้งแต่ต้นปี 2567 และ 1 ปี ยังคงเป็นบวกสวนทางกับตลาดได้ ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์และฝีมือของผู้บริหารระดับ CEO (Chief Executive Officer) ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจคัดเลือกจาก SET100 จำนวน 5 หลักทรัพย์ที่อัตราการเปลี่ยนแปลงด้านราคาเป็นบวก ตั้งแต่ต้นปี 2567 และ 1 ปี
1.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) TRUE
ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม บริการด้านดิจิทัลครบวงจร และดิจิทัลคอนเวอร์เจนซ์ไลฟ์สไตล์ครอบคลุมทั้งโทรศัพทเคลื่อนที่ บอรดแบนด์อินเทอร์เน็ต WiFi โทรทัศน์ คอนเทนต์ และดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม
- มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- ผลตอบแทนราคา 1 ปี +23.36%
- ผลตอบแทนราคา YTD +67.33%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 9.00 / 5.00 บาท
- มาร์เก็ตแคป 291,965 ล้านบาท
TRUE คาดการณ์ว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ในปี 2567 จะมีการเติบโต 3-4% EBITDA จะมีการเติบโต 9-11% และค่าใช้จ่ายลงทุนรวมงบลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากการควบรวม หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 3 30,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนปรับปรุงโครงข่ายให้ทันสมัย เตรียมความพร้อมของระบบไอทีและบอร์ดแบรนด์ให้ครอบคลุม เพื่อเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ
ทั้งนี้ TRUE คาดว่าจะสามารถทำกำไรภายหลังการปรับปรุงได้ในปี 2567 ผลประกอบการ TRUE ในปี 2566 นับว่าประสบความสำเร็จเกินคาด ด้วยจุดแข็งที่ผสมผสานกัน ส่งผลให้รายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น
โดยผลประกอบการ TRUE ไตรมาส 1/67 ยังขาดทุนสุทธิ 769 ล้านบาท เกิดจากทรัพย์สินด้อยค่า 1.5 พันล้านบาทระบุเป็นรายการเกิดขึ้นครั้งเดียว ทว่ากำไร EBITDA สูงถึง 23,602 ล้านบาทโตต่อเนื่องไตรมาสที่ 5 ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 51,347 ล้านบาททรงตัว ทั้งปีนี้ยังหวังกำไรสุทธิเป็นบวก
ขณะที่รายได้จากธุรกิจออนไลน์อยู่ที่ 6,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการให้บริการแบบสมัครสมาชิกที่เพิ่มสูงขึ้น จากรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) ที่เติบโตขึ้น โดยผู้ใช้งานบริการออนไลน์อยู่ที่ 3.7 ล้านราย
2.บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) STA
ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายยางธรรมชาติแบบครบวงจร ในหลากหลายประเทศ เริ่มตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำการทำสวนยางพาราในประเทศไทย ธุรกิจกลางน้ำการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ทั้งยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น รวมถึงธุรกิจปลายน้ำในการผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยาง และสินค้าสำเร็จรูป อาทิ ท่อไฮดรอลิกแรงดันสูง
- วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่
- ผลตอบแทนราคา 1 ปี +23.24%
- ผลตอบแทนราคา YTD +41.61%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 24.50 / 12.10 บาท
- มาร์เก็ตแคป 35,021 ล้านบาท
STA ระบุว่า ทิศทางผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์ราคาขายยางพาราและความต้องการใช้สินค้าในตลาดโลก ทั้งยุโรปและทวีปเอเชียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดีมานด์จากลูกค้ากลุ่มประเทศ Non China ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 เพื่อเพิ่มปริมาณยางธรรมชาติในสต๊อก และลูกค้าจากประเทศจีนที่เริ่มทยอยสั่งซื้อยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นถือเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัท
โดยภาพรวมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติที่ราคาและดีมานด์กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวแต่ยังต้องติดตามสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะมีผลต่อฤดูการเปิดกรีดยางและซัพพลายใหม่ในอุตสาหกรรมยาง
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 มีรายได้จากการขายและบริการ 23,678 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการขายถุงมือยางทั้งไตรมาสที่เพิ่มขึ้นเป็น 10,091 ล้านชิ้น ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลทำให้ผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 1/2567 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจากสถานการณ์ราคายางและดีมานด์ที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว รวมถึงต้องติดตามสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะมีผลต่อฤดูกาลเปิดกรีดยางและซัพพลายใหม่ในอุตสาหกรรมยาง
3.บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) STGT
ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่น โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ถุงมือยางธรรมชาติชนิดมีแป้ง ถุงมือยางธรรมชาติชนิดไม่มีแป้ง และถุงมือยางไนไตรล์
- จริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่
- ผลตอบแทนราคา 1 ปี +21.11%
- ผลตอบแทนราคา YTD +62.69%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 12.10 / 5.70 บาท
- มาร์เก็ตแคป 31,230 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/67 STGT มีกำไร 146.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 132.33 ล้านบาท และมีปริมาณการขายอยู่ที่ 10,091 ล้านชิ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ โดยทำลายสถิติเดิมอย่างต่อเนื่องของทุกผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นทั้งในส่วนของปริมาณการขายและราคาขาย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากความต้องการถุงมือยางที่ได้กลับเข้าสู่การเติบโตในอัตราปกติของอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ในส่วนของรายได้จากการขาย 6,050.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.0% QoQ และเพิ่มขึ้น 32.1% YoY โดยในไตรมาส 1/67 สัดส่วนรายได้ของถุงมือยางธรรมชาติชนิดมีแป้ง อยู่ที่ 37% ถุงมือยางธรรมชาติชนิดไม่มีแป้งอยู่ที่ 39% และถุงมือยางสังเคราะห์อยู่ที่ 24% ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
4.บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) SAPPE
บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ภายใต้ กว่า 20 ตราสินค้าทั้งในและต่างประเทศ
- ปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
- ผลตอบแทนราคา 1 ปี +21.11%
- ผลตอบแทนราคา YTD +19.65%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 107.50 / 71.25 บาท
- มาร์เก็ตแคป 31,908 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า กำไรปกติของ SAPPE จะสามารถทำ New High ต่อจนถึงไตรมาส 3/2567 เนื่องจากในไตรมาส 2/2567 บริษัทจะรับรู้กำลังการผลิตใหม่เต็มไตรมาส (+25.0% YoY) และลูกค้าในยุโรปที่กลับมาสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น คาดกำไรปกติจะทำระดับสูงสุดของปี เนื่องจากเป็นช่วง High Season ของธุรกิจที่เป็นช่วงฤดูร้อนของภูมิภาคยุโรป และการได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากงาน Olympic Summer ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคาดจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในยุโรปสูงขึ้น เป็นบวกต่อการบริโภคสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยยังคงประมาณการกำไรปกติปี 2567 ที่ 1,345 ล้านบาท (+24.0% YoY) และคงราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2567 ที่ 110.00 บาท
สำหรับดำเนินงานไตรมาส 1/2567 สามารถทำ Triple High ต่อเนื่อง 3 เดือนติด ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 1,836.0 ล้านบาท เติบโต 20.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีรายได้จากการขาย 1,520.3 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิ 352.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.2% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 274.8 ล้านบาท ยังคงสร้างสถิติผลการดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งในประเทศและทุกภูมิภาคทั่วโลก
ปัจจุบันเซ็ปเป้ส่งออกสินค้าไป 100 ประเทศ โดยกลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวโดดเด่นคือตะวันออกกลาง ที่มีการเติบโตสูงถึง 107.4% และทวีปอเมริกา เติบโต 43.9% เป็นต้น ส่วนทวีปเอเชียและยุโรปก็ยังสามารถสร้างผลการดำเนินงานได้ดี สะท้อนความสำเร็จในแบรนด์สินค้าของเซ็ปเป้ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก
5.บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) WHA
ประกอบธุรกิจให้บริการแบบครบวงจรด้านโลจิสติกส์ โดยสามารถจำแนกส่วนธุรกิจได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัล อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีนโยบายในการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ฯ (WHART WHAIR และ WHABT) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงการในอนาคตของบริษัท
- จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท
- ผลตอบแทนราคา 1 ปี +17.26%
- ผลตอบแทนราคา YTD +4.95%
- ราคาสูงสุด/ต่ำสุด 52 สัปดาห์ 5.65 / 4.38 บาท
- มาร์เก็ตแคป 79,218 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 WHA มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 3,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% และกำไรสุทธิ 1,365 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 161% ตามลำดับ ขณะที่รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 3,776 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% และกำไรปกติ 1,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 154% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากอัตราการเติบโตของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจที่สร้างผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดย WHA ยังคงเดินหน้า สร้างการเติบโตของรายได้ และกำไรสุทธิ ทั้งนี้เป็นผลจากการขับเคลื่อนของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ซึ่งสอดรับกระแสการย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิตของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงนโยบายภาครัฐที่กระตุ้นการดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้ภาคการลงทุนกลับมาคึกคักอีกครั้ง และหนุนให้ 4 กลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยบวกดังกล่าว