WHA วางแผนแยกเอาบริษัทลูก ไอพีโอปี 68 ย้ำ WHART สะดุดเพิ่มทุนไม่ระคายเป้าโต

WHA วางแผนแยกเอาบริษัทลูก ไอพีโอปี 68 ย้ำ WHART สะดุดเพิ่มทุนไม่ระคายเป้าโต

WHA แย้มปี 68 กระแสเงินสดคล่องตัวจากแผน Spin-Off บริษัทลูกเข้าตลาด ระยะยาวเตรียมส่งไอพีโอ 4-5 บริษัท ส่วนกรณี WHART โหวตไม่ซื้อทรัพย์ ชี้กระทบกระแสเงินสดแค่ 1 พันล้านบาท ไม่มีนัยเทียบวงเงินลงทุนราว 2.5 หมื่นล้านบาท พร้อมยังคาดหวังเห็นปี 67 นี้ ผลประกอบการออลไทม์ไฮ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้ถือหุ้นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท หรือ WHART โหวตไม่ซื้อทรัพย์ใหม่จาก WHA จะส่งผลดีต่อผลประกอบการธุรกิจในกลุ่มซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการแยกธุรกิจบางส่วนออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่เพื่อผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Spin-Off

"เราเองก็ยังอยากเก็บสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ประจำไว้ด้วยเพราะให้อัตรากำไรขั้นต้นที่ดีกว่ามากๆ และถ้าถามว่าการที่ WHART โหวตไม่ซื้อทรัพย์ครั้งนี้กระทบกระแสเงินสดไหม ตอนนี้พูดได้แค่ว่าเราเองมีแผน Spin-Off บริษัทลูกเข้าตลาด เพราะฉะนั้นปีหน้าจะได้เงินเข้ามาอีกค่อนข้างจะมาก พูดได้แค่นี้นะคะ"

สำหรับระยะยาว WHA ก็ยังมีแผนที่จะ Spin-Off บริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติมอีกราว 4-5 บริษัทตามความเหมาะสมเพื่อให้ทั้งกลุ่มธุรกิจแข็งแรงยิ่งขึ้น

ส่วนการที่ WHART โหวตไม่ซื้อทรัพย์ทางบริษัทจะมีการเดินสายเข้าพบนักลงทุนสถาบันต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจทิศทางการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มให้มากขึ้น รวมถึงอธิบายผลประโยชน์ที่เหมาะสมหากอนุมัติเข้าลงทุนกองทรัสต์

แต่จะด้วยกระบวนการจะไม่มีการเปิดประชุมให้ทบทวนการลงมติใหม่แล้ว เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านเงื่อนไขเวลา ในขณะที่บริษัทยังมีกระแสเงินสดมากพอรองรับแผนลงทุนต่างๆ ที่วางไว้

"เทียบเป็นจำนวนรายมีน้อยมากที่ไม่เข้าใจเรา นักลงทุนที่ไม่โหวต WHART เพราะห่วงสภาพเศรษฐกิจไม่ดี แต่พอดอกเบี้ยในตลาดเป็นทิศทางปรับลดลงในปีหน้า สถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้น"

ทั้งนี้ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ย้ำว่า บริษัทได้รับผลกระทบเรื่องกระแสเงินสดกระทบราว 1 พันล้านบาทซึ่งถือว่าไม่มีนัย หากเทียบกับแผนการลงทุนของทุกฮับ จำนวนประมาณ 25,000 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกระแสเงินสดมากกว่าหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ อัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่าหลักประกันหรือ LTV ของตัว WHART ปัจจุบันอยู่แค่ 27.8% จากเพดาน 35% จึงยังมีความสามารถกู้ยืมเงินอีกมากในกรณีที่จำเป็น หากได้รับการอนุมัติในการเข้าซื้อสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 4.3 พันล้านบาท ที่ทาง WHA เสนอขายในครั้งนี้

ด้านงบลงทุนซื้อที่ดินปี 2567 กำหนดที่ 8 พันล้านบาท ปัจจุบันใช้ไปราว 5 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอรองรับการขยายตัวของธุรกิจตามแผนงานแล้ว ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 3 พันล้านบาทจะยังไม่เร่งใช้ในขณะนี้

สำหรับเป้าหมายผลการดำเนินงานทั้งกลุ่มในปี 2567 ยังคาดหวังสร้างตัวเลขการเติบโตสูงสุดใหม่ จำแนกเป้าหมายกลุ่มธุรกิจต่างๆ ทั้ง 4 กลุ่มดังนี้

กลุ่มโลจิสติกส์ คาดจะมีโครงการใหม่ต่อยอดพื้นที่เช่าสุทธิ 200,000 ตารางเมตร แต่การสร้างรายได้จากการขายสินทรัพย์ให้ WHART จะเลื่อนออกไป ปีนี้ยังมีการขายทรัพย์เข้ากอง WHAIR ขนาด 4 หมื่นตารางเมตร, กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมยังคงเป้าหมายที่ยอดขาย 2,275 ไร่, กลุ่ม Utility & Power เป้าหมาย 178 ล้านลูกบาศก์เมตร และไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ และสุดท้ายกลุ่มดิจิทัลระยะยาวยังมีภาพที่ดีอยู่

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์