'ทุเรียนไห่หนาน' ออกสู่ตลาดจีนครั้งแรก เพิ่มคู่แข่งผลไม้ไทย
เดือนพ.ค.ส่งออกผลไม้ไทยพุ่ง 128 % “ทุเรียน”รั้งแชมป์ส่งออกมูลค่ากว่า 8.3 หมื่นล้านบาท ส่งออกไปจีนมากสุด เผย”ทุเรียนไห่หนาน”ออกสู่ตลาดครั้งแรกเดือนมิ.ย. สคต.เซี่ยเหมิน จับตาอนาคต ทุเรียนไห่หน่านแย่งเค้กตลาดทุเรียนสดในจีนจากไทยนอกคู่แข่งจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์
ถือว่าเกินคาดเมื่อตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน พ.ค.2567 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.2% โดยมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน และขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน
การส่งออกของไทยที่ทำได้ดีมากในเดือน พ.ค.มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก ที่กลับมาขยายตัวถึง 36.5% เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ พลิกกลับมาเป็นบวกสูงถึง 128% โดยในนี้เป็นการส่งออก ทุเรียน 83,059.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% ตามมาด้วย มังคุด ลำไย และมะม่วง
ตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัว แสดงให้เห็นว่า ทุเรียนของไทยยังส่งออกได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีน หลังจากที่ลดลงช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้า เพราะผลผลิตปีนี้ออกล่าช้า แต่พอเดือน พ.ค. ผลผลิตมีเต็มที่ ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น และคาดว่าเดือนต่อ ๆ ไปก็จะส่งออกได้ดีขึ้น
อีกทั้งยังมีทุเรียนภาคใต้ ที่จะเข้ามาเสริม ทำให้มั่นใจว่าไทยยังคงเป็นแชมป์ส่งออกไปจีนเหนือคู่แข่งแน่นอน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก China News Service ระบุว่า ทุเรียนจากมทลไห่หนาน ประเทศจีนจะออกสู่ตลาดในปลายเดือน มิ.ย. Wanbao Agriculture and Animal Husbandry Group ปลูกทุเรียนโดยปีนี้ผลผลิตจากการปลูกทุเรียนโดยประมาณ 500 ต้นเริ่มออกผล
จากการรายงาน ทุเรียนเหล่านี้ได้มีการปลูกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และในปีนี้เป็นฤดูออกผลครั้งแรก โดยทุเรียนอายุ 4 ปี สามารถผลิตทุเรียนได้มากถึง 19 ลูก ซึ่งแต่ละผลจะสามารถมีน้ำหนักถึง 2 กิโลกรัม
ทั้งนี้ช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทุเรียนไห่หนานเริ่มเปิดตัวเข้าสู่ตลาดจีนซึ่งผลผลิตเร็วกว่าที่คาดการณ์ประมาณหนึ่งเดือน ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 60 หยวน/จิน (1 จิน เท่ากับ 0.5 กิโลกรัม) เนื่องด้วยจีนมีพื้นที่การปลูกจำกัด ทำให้ผลผลิตยังไม่มาก ส่งผลให้ราคายังคงสูง (ทุเรียนไทยขายปลีกประมาณ 30-35 หยวน/จิน)
แต่ทั้งนี้ Du Baizhong ประธานของสมาคมทุเรียนไห่หนานและเป็นผู้จัดการของ Hainan Youqi Agricultural Company ซึ่งปัจจุบันบริษัทเป็นฐานการปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในไห่หนาน คาดการณ์ปีนี้ผลผลิตจากการออกผลทุเรียนไห่หนานจะเพิ่มขึ้น 400 % จากปีก่อนหน้า ซึ่งผลผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 250 ตัน ทั้งนี้อุตสาหกรรมการปลูกทุเรียนในจีนเริ่มได้รับความนิยมและได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนจากทั่วประเทศจีน
ฤดูเก็บเกี่ยวของทุเรียนไห่หนานเริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ส.ค. โดยจะมีผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวมากที่สุดในช่วงก.ค. จากการคาดการณ์ชี้ให้เห็นว่าการเพาะปลูกทุเรียนในไห่หนานจะเกิน 6,600 เฮกตาร์ ( 41,250 ไร่ ) ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า
แต่ทั้งนี้การปลุกทุเรียนในเกาะมีข้อเสียเปรียบคือต้องเผชิญกับการผลิตที่มีจำนวนจำกัด สภาพอากาศที่ไม่แน่นอนและพายุไต้ฝุ่น ดังนั้นเพื่อการลดความเสี่ยงจากปัญหาเหล่านี้ จีนจึงพัฒนาเทคโนโลยีตัดแต่งพันธุ์ทุเรียนเป็นพันธุ์แคระ ทำให้ทุเรียนมีขนาดเล็กลงโดยทั่วไปจะสูง 2 เมตรกว่าเพื่อช่วยในการเก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น
“นันท์นภัส งามแม้น” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองเซี่ยเหมิน ให้ความเห็นว่า ข้อมูลจาก Global Trade Atlas จีนนำเข้าทุเรียนสดจาก 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ในช่วง ม.ค.-เม.ย.ปี 2567 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนสด ดังนี้
- อันดับ 1 ไทยเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 121,398.253 ตัน มูลค่า 716.691ล้านดอลลาร์ ส่วนแบ่งการตลาด 65.65 %
- อันดับ 2 นำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม 79,186.190 ตัน มูลค่า 369.211 ล้านดอลลาร์ ส่วนแบ่งการตลาด 33.82 %
- อันดับที่ 3 นำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ 1,778.123 ตัน มูลค่า 5,807,841 ล้านดอลลาร์ ส่วนแบ่งการตลาด 0.53 %
“เมื่อจีนสามารถผลิตทุเรียนไห่หนานได้ จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในวงการทุเรียนจีน แต่ทั้งนี้จะยังส่งผลต่อการนำเข้าทุเรียนไทยได้ไม่มาก เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังน้อย ถึงกระนั้นไทยก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะตลาดทุเรียนไทยอาจต้องพบกับการแย่งส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนจาก ทุเรียนไห่หนานที่เริ่มเป็นที่รู้จัก ” นางสาวนันท์ภัส กล่าว
ทั้งนี้ไทยควรพัฒนาทุเรียนไทยให้มีคุณภาพสูงและมีความสดใหม่เพื่อยังสามารถรักษาตลาดจีนและตลาดโลกที่สูงไว้ได้ แม้ว่าทุเรียนไห่หนานจะเริ่มเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคจีน
แต่หากทุเรียนไทยยังรักษาคุณภาพ และสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั้งในคุณภาพและรสชาติ การนำเข้าทุเรียนไทยยังคงมีโอกาสที่จะเป็นที่ต้องการในตลาดจีนและตลาดโลกด้วยความพร้อมที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภคในทุกๆ ประเทศ
จากข้อมูลดังกล่าวว่าชี้ให้เห็นว่าทุเรียนไห่หนาน จะเข้ามาตีตลาดแย่งเค้กตลาดจีนกับไทย นอกจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ ด้วยผลผลิตที่ออกมาในช่วงเดียวกัน ซึ่งไทยคงต้องจับตาสถานการณ์ตลาดทุเรียนในจีนมากขึ้น เพราะ “ตัวเลือก”ของทุเรียนเพิ่มมาก ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดกระจายไปยังผู้ประกอบการของจีนและคู่แข่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้