ความเหลื่อมลํ้า ปัญหาที่ไม่มีใครพูดถึง

ความเหลื่อมลํ้า ปัญหาที่ไม่มีใครพูดถึง

อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปให้ความเห็นในงานสัมมนาผู้นำระหว่างประเทศ เป็นสัมมนาโต๊ะกลมหัวข้อ การสร้างชาติ สันติสุข และสุขภาพในโลกที่เหลื่อมล้ำ จัดโดยสถาบันการสร้างชาติประเทศไทยร่วมกับองค์กรเครือข่าย ผมได้ให้ความเห็นในเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ

วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นของผมในเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต ทราบ

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของโลก แต่มีการพูดถึงน้อยเทียบกับความสำคัญของปัญหา ทําให้นานๆ เราจะเห็นเอกสารหรืองานวิจัยออกมาพูดถึงความรุนแรงของปัญหา

ล่าสุดก็เช่น รายงานจากสถาบัน OXFAM เมื่อต้นปีนี้ที่ชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2020 คือ สี่ปีที่ผ่านมา ความมั่งคั่งของอัครมหาเศรษฐีห้าคนแรกของโลกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะที่ประชาชนเกือบห้าพันล้านคนในโลกจนลง คือรายได้ลดลง

สองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน ความรํ่ารวยของคนห้าคนนี้คงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากทรัพย์สินและอำนาจทางธุรกิจที่มี ทำให้รายได้ของคนจํานวนมากขึ้นในโลกก็จะลดลงเช่นกัน

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่าความผิดหวังสําคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ คือ แม้เราจะสามารถทําให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง นํามาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากรทั่วโลกและความยากจนลดลง

ความเหลื่อมลํ้า ปัญหาที่ไม่มีใครพูดถึง

แต่ความเหลื่อมล้ำ คือความแตกต่างของรายได้และทรัพย์สินระหว่างคนรวยกับคนจนในระบบเศรษฐกิจ นับวันจะรุนแรงมากขึ้น ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ นี่คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ตัวอย่างเช่น คนรวยที่สุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์แรกของโลก ประเมินว่าถือครองทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งในห้าของทรัพย์สินทั้งหมดที่โลกมี ถ้าจะเเคบลงมาระดับประเทศ ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้นทั้งในสหรัฐ ประเทศยุโรปและเอเชีย

สําหรับประเทศไทย เราเป็นตัวอย่างของประเทศกําลังพัฒนาที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดโต่ง คือ มากสุดในอาเซียน และติดอันดับท็อปสี่ของโลกจากรายงาน Wealth Report ของ ธนาคาร เครดิตสวิส ปี 2018 เทียบเคียงได้กับ รัสเซียหรืออินเดีย

ในทางเศรษฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำเกิดจากอัตราการเติบโตของรายได้ของคนรวยซึ่งมีจํานวนน้อยในสังคม ที่เพิ่มสูงกว่าและเร็วกว่ารายได้ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เพราะคนรวยมีรายได้จากหลายทางทั้งการทํางาน ที่ดิน การลงทุนในสินทรัพย์การเงิน และอำนาจธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทที่ตนเป็นเจ้าของ ขณะที่คนจนหรือคนที่ไม่รวย รายได้จะจํากัดอยู่ที่การประกอบอาชีพหรือทำงาน และรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการออม นี่คือความแตกต่าง

หลายคนคงคิดว่าความเหลื่อมล้ำน่าจะเป็นเรื่องปรกติ เพราะเป็นผลผลิตของกลไกตลาดที่เกิดจากความรู้และวิริยะอุตสาหะของแต่ละคนที่ต่างกัน ซึ่งก็ถูกแต่ถูกเพียงครึ่งเดียว

ความเหลื่อมลํ้า ปัญหาที่ไม่มีใครพูดถึง

เพราะปัจจัยที่ทําให้อัตราเพิ่มของรายได้ของคนรวยและคนจนต่างกันมีทั้งปัจจัยภายใน เช่นนโยบายรัฐ และปัจจัยภายนอก เช่น เศรษฐกิจโลก ซึ่งทั้งปัจจัยภายในและภายนอกต่างชี้เหมือนกันว่าความเหลื่อมลํ้าเกิดจากความแตกต่างของโอกาส

คือคนจนและคนรวยไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆได้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ มีงานที่ดีทำ สินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ การลงทุน หรือแม้แต่การรักษาพยาบาล เมื่อโอกาสต่างกัน คนรวยก็จะได้เปรียบในการสร้างรายได้และเติบโตไม่สิ้นสุด

สำหรับปัจจัยภายนอก โลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เป็นสองปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น

เพราะโลกาภิวัตน์สร้างประโยชน์และรายได้ให้กับคนในประเทศที่เป็นผู้รับต่างกัน ที่ได้ประโยชน์มากคือเจ้าของกิจการและแรงงานที่ทํางานกับเงินลงทุนที่มากับโลกาภิวัตน์ ขณะที่คนอื่นๆในสังคมไม่มีโอกาส

เช่นเดียวกับเทคโนโลยี ที่ผู้ที่ได้ประโยชน์คือเเรงงานที่มีการศึกษา มีทักษะ ที่สามารถทำงานให้กับธุรกิจเทคโนโลยีหรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ขณะที่ผู้ที่มีรายได้น้อยในสังคม การศึกษาตํ่า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาส

สำหรับปัจจัยภายใน เช่น นโยบายรัฐ อันนี้ก็เป็นความผิดหวัง คือเรายอมรับกันว่าความแตกต่างของโอกาสที่มีในระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มความเหลื่อมลํ้า แต่ก็หวังว่ากลไกหลายอย่างในระบบเศรษฐกิจ เช่น การศึกษา การแข่งขัน ภาษี การใช้จ่ายภาครัฐ

ความเหลื่อมลํ้า ปัญหาที่ไม่มีใครพูดถึง

และมาตรการรัฐที่จะลดความเหลื่อมลํ้า เช่น การปฏิรูปที่ดิน จะทำให้ความเหลื่อมลํ้าที่ประเทศมีลดลง คือเป็นกลไกที่จะช่วยลดความเหลื่อมลํ้าในที่สุด หรือเป็น Equalizing factors

แต่ในความเป็นจริงในหลายประเทศ กลไกเหล่านี้ไม่ทํางานหรือทำตรงข้ามกับที่ควรทำ ทำให้ความเหลื่อมลํ้ายิ่งมีมากขึ้น เช่น กรณีประเทศเรา

หนึ่ง การศึกษา แม้ไทยจะใช้จ่ายด้านการศึกษามากสุดในงบประมาณประจำปีของรัฐ แต่คุณภาพการศึกษาที่เด็กไทยได้รับผิดหวังมาก คะเเนนผลสำรวจ PISA ของไทยปีที่แล้วรั้งท้ายในอาเซียนและตํ่าสุดในรอบ 20 ปี

ทําให้เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และทักษะมากพอที่จะแข่งขันและใช้การศึกษาเป็นบันไดสร้างชีวิต เป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวง เพราะในชีวิตเด็กทุกคนจะเรียนได้เพียงครั้งเดียว

สอง นโยบาย ประเทศเราขาดระบบภาษีอัตราก้าวหน้าที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีทรัพย์สิน เช่นที่ดิน ภาษีมรดก นอกจากนี้ นโยบายรัฐก็ทำให้การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจมีน้อยลง

ซึ่งตรงข้ามกับการแก้ความเหลื่อมล้ำ เช่น ยอมให้ธุรกิจขนาดใหญ่ควบรวมในธุรกิจหลัก เช่น ค้าปลีก และโทรคมนาคม ทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงต่อการครอบงําตลาดและการผูกขาด

สาม การทุจริตคอร์รัปชันที่มีกว้างขวางในประเทศเรา ทําให้ผู้ที่ทุจริตรํ่ารวยได้อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งนอกจากจะทําลายเศรษฐกิจและประเทศชาติแล้ว ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลงเพราะคนจนในประเทศไม่มีโอกาสที่จะคอร์รัปชันอยู่แล้ว

เหล่านี้คือปัจจัยที่มาจากเงื่อนไขในประเทศที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำประเทศเราแย่ลง เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะถ้าความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรง ความยากจนก็จะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นเพราะคนที่มีรายได้ตํ่าจะถูกบีบให้จนลง

และถ้าความยากจนรุนแรงก็จะเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความมั่นคงของประเทศ

การแก้ไขต้องเริ่มจากการยอมรับปัญหานี้โดยกลุ่มคนที่รํ่ารวย เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลมีอํานาจที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศ นี่คือสิ่งที่รออยู่

ความเหลื่อมลํ้า ปัญหาที่ไม่มีใครพูดถึง

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]