สรท. ฝ่าปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง  ดันส่งออกโตตามเป้า 1-2 %

สรท. ฝ่าปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง  ดันส่งออกโตตามเป้า 1-2 %

สรท.มั่นใจ ส่งออกไทยครึ่งปีโต 1-2 % จับตาปมภูมิรัฐศาสตร์ ค่าระวางเรือพุ่ง อาจทำส่งออกสะดุดครึ่งปีหลัง เผย ค่าระวางเรือปรับขึ้น 3-4 เท่าในทุกเส้นทาง แต่ยังมั่นใจโตได้ตามเป้า 1-2% เตรียมเปิดตัว Trading Nation ปรับโครงสร้างส่งออก ให้ไทยโตแบบก้าวกระโดด

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนพ.ค.67 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.2% ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการส่งออกผลไม้สด เนื่องจากผลผลิตออกล่าช้าจากไตรมาส 1 มาเป็นช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้  ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออก  5 เดือน (ม.ค.- พ.ค.67) ขยายตัว 2.6% ถือว่าทำได้ดีมาก ซึ่งเหลือเพียง 1 เดือนต่อให้การส่งออกเลวร้ายสุด 23,300-23,400 ดอลลาร์ ครึ่งปีแรกน่าจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 1-2%  โดยเป้าหมายครึ่งปีแรกถือว่าสอบผ่าน ส่วนครึ่งปีหลังก็ยังมีโมเมนตัมที่จะเติบโตได้แบบค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ สรท.ยังคงเป้าหมาย การส่งออกปี 67 ที่ขยายตัว 1-2% จะมีมูลค่า 287,407-290,253 ล้านดอลลาร์ โดยในช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.- ธ.ค.67) จะต้องมีมูลค่าส่งออก 142,500-145,200 ล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยเดือนละ 23,800-24,200 ล้านดอลลาร์ ก็จะทำให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ เชื่อว่าผู้ส่งออกสามารถยังสามารถขับเคลื่อนไปได้ เพราะดูจากสินค้าที่ยังส่งออกได้ดีทั้งยางพารา อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หากว่าไม่ปัจจัยภายนอกมาซ้ำเติม และค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ซึ่งเอื้อต่อการส่งออก มั่นใจได้ว่า ทั้งปีโต 1-2%

อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในครึ่งปีหลังที่สำคัญ ได้แก่

1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน การตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน และชาติพันธมิตร อาจส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลกรวมถึงการค้าระหว่างประเทศของไทย จับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

2. ต้นทุนภาคการผลิต ทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมัน และไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้น

สรท. ฝ่าปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง  ดันส่งออกโตตามเป้า 1-2 %

3. ต้นทุนค่าระวางเรือ ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge)  ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าแต่ยังไม่สูงสุดเท่ากับช่วงโควิด และค่าใช้จ่ายภายในประเทศ (Local Charge) ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากการเร่งผลิต และส่งออกของจีนส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกว่า 300% ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  

4.การเข้าถึงสินเชื่อของภาคการผลิตมีปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ขาดสภาพคล่อง

5. ภาคการผลิตรายสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวค่อนข้างจำกัด

 “ปัจจัยบวกเรื่องเดียวคือ เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งต้องพยายามควบคุมปัจจัยเสี่ยง และบริหารจัดการให้แต่มรสุมในช่วงครึ่งปีหลังรุมเร้าเยอะที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ  โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือจีโอโพลิติกส์ทำให้ต้นทุนสูง ทั้งราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น รวมไปถึงการจองเรือ ต้องจองล่วงหน้าเป็นเดือน ส่งผลให้การส่งมอบสินค้ามีความล่าช้า”นายชัยชาญ กล่าว

ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีผลต่อการเร่งสั่งซื้อสินค้าหรือไม่ นายชัยชาญ กล่าวว่า  ผู้นำเข้าสหรัฐมีความวิตกกังวลเพราะไม่แน่ใจว่าหลังการเลือกตั้งมาตรการทางการค้าจะเป็นอย่างไร และมาตรการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนจะรุนแรงลุกลามหรือไม่ ทำให้ช่วงนี้เห็นว่า ทางจีนเร่งส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ และประเทศคู่ค้ามากขึ้นส่วนการส่งออก และการสั่งซื้อสินค้ายังคงปกติ

 

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะ แม้ว่าข้อเสนอแนะอาจยังซ้ำๆ ของเดิม เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประกอบด้วย

1.ต้องกำกับดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อให้การส่งออกของไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันได้ อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้าทางทะเลโดยเฉพาะค่าระวางเรือ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

2.ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่งด้วยการจองระวางเรือล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกเส้นทาง รวมถึงต้องบริหารจัดการสต๊อกสินค้าให้เหมาะสม

3.สนับสนุน และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการส่งออก อาทิ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้า

4.สนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับภาคธุรกิจ ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสด และการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ การจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการวางแผนบริหารจัดการ

5.เร่งส่งเสริมกิจกรรม Trade Promotion ในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ และสร้างโอกาสให้สินค้าไทยในสายตาคู่ค้า และผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองระหว่างประเทศมีความผันผวน 6.เร่งปรับโครงการสร้างการส่งออกของไทย เพื่อรองรับการแข่งขันในระยะยาว โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Trading Nation

“ภาวะการส่งออกของไทยเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เรามีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่านี้ โดยต้องปรับโครงสร้างเชิงระบบ ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเป็น Trading Nation เพื่อให้การส่งออกไม่ติดกับดักเดิมๆ กินบุญเก่า หรือโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เราจะต้องโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งสรท.ได้มีการรวบรวมความเห็นจากกูรูทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการส่งออกของไทยไว้ใน “Trading Nation” โดยจะมีการเปิดตัวในเดือนก.ย.นี้เพื่อเป็นทางออกให้การส่งออกของไทยเติบโตอย่างยั่งยืน”นายชัยชาญ กล่าว

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า   สถานการณ์ค่าระวางเรือจากเอเชียไปยังตลาดสำคัญในเดือนมิ.ย.มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพ.ค.โดยเป็นการปรับขึ้น 3-4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดปัญหาทะเลแดง เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในทุกเส้นทาง ซึ่งเกิดจากปัญหาในทะเลแดง การเร่งการส่งออกของจีน เทรดวอร์รอบ 2  

ปัจจุบันค่าระวางเรือเส้นทางส่งสินค้าไปยุโรป สูงขึ้นไปถึง 4,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต( USD/TEU ) ส่วนเส้นทางส่งสินค้าไปยังสหรัฐ ค่าระวางฝั่ง West Coast อยู่ 6,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต  ขณะที่ค่าระวางฝั่ง East  อยู่ที่  7,500 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์