ทอท. เร่งศึกษาผลกระทบยกเลิก 'ดิวตี้ฟรี' ยันสูญส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญา

ทอท. เร่งศึกษาผลกระทบยกเลิก 'ดิวตี้ฟรี' ยันสูญส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญา

ทอท.เร่งศึกษาผลกระทบยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า ยันต้องสูญส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทาน ระบุผลบวกเตรียมนำพื้นที่มาพัฒนาบริการผู้โดยสาร ห้องน้ำและที่พักคอยระหว่างรอขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (2 ก.ค.) เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย พร้อมทั้งพิจารณายกเลิกร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) สำหรับผู้โดยสารขาเข้าเพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ ในส่วนของ ทอท.เตรียมหารือกับผู้ประกอบการร้านค้าดิวตี้ฟรี เพื่อแจ้งปรับลดพื้นที่ดำเนินกิจการ

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการปรับลดพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้า ส่งผลต่อรายละเอียดในสัญญาสัมปทานที่ดำเนินไว้กับเอกชน เนื่องจากพื้นที่บริหารกิจการจะลดลงจากสัญญาระบุไว้ และอาจทำให้ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนลดลงตามพื้นที่บริหารที่ปรับลดลง ส่วนผลบวกที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน คือ บริการผู้โดยสาร เนื่องจาก ทอท.เตรียมนำพื้นที่ส่วนนี้มาพัฒนาเป็นห้องน้ำ พื้นที่พักคอยระหว่างรอขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)

“ตอนนี้ ทอท.ต้องไปหารือกับผู้ประกอบการก่อนว่าต้องเรียกคืนพื้นที่เท่าไหร่ และจะกระทบต่อส่วนแบ่งรายได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดอีกที เพราะมีคู่สัญญา แต่ ทอท.ยืนยันว่าการขอคืนพื้นที่ทำได้ตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานกำหนดไว้ ไม่ได้กระทบต่อสัญญา”

 

สำหรับการยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้า ที่ตั้งอยู่ ณ ท่าอากาศยานภายในบริเวณพื้นที่ห้องผู้โดยสารขาเข้าเพื่อแสดงและขายให้แก่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้าน Duty Free ขาเข้าจำนวน 3 ราย ดำเนินกิจการในท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่

1.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

2. ท่าอากาศยานดอนเมือง

3.ท่าอากาศยานเชียงใหม่

4.ท่าอากาศยานภูเก็ต

5.ท่าอากาศยานหาดใหญ่  

6.ท่าอากาศยานอู่ตะเภา

7. ท่าอากาศยานสมุย

8.ท่าอากาศยานกระบี่

โดยจากสถิติของกรมศุลกากรในปี 2566 มียอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้าน Duty Free ขาเข้ารวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 3,021.75 ล้านบาท