เปิดเบื้องหลัง 6 เดือน 'พีระพันธุ์' เขย่าใหญ่ข้าราชการ 'พลังงาน'

เปิดเบื้องหลัง 6 เดือน 'พีระพันธุ์' เขย่าใหญ่ข้าราชการ 'พลังงาน'

เปิดเบื้องหลังเพียง 6 เดือน "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" โยกใหญ่ข้าราชการ "กระทรวงพลังงาน" 3 ตำแหน่ง เชื่อเซ่น แผนPDP 2024

KEY

POINTS

  • ก่อนหน้านี้ "พีระพันธุ์" จะมีการนำเสนอที่ประชุมครม. เพื่อขออนุมัติโยกย้ายข้าราชการทั้ง 3 คน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2567 หลังจากเพิ่งแต่งตั้งโยกย้ายครั้งใหญ่ช่วงปลายปี 2566 
  • รมต.พลังงาน เตรียมเรียกประชุมเพื่อทำความเข้าใจและศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงสร้างไฟฟ้าตามภาพรวมของแผน PDP2024  
  • สิ่งที่ต้องจับตาอีกที่คือ "พพ." ที่ต้องปรับนโยบายใหม่อีกครั้งภายหลัง "วัฒนพงษ์" เข้าบริหารงานและเริ่มที่จะเข้าที่เข้าทางแต่ก็ต้องมีการปรับอธิบดีใหม่ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือ ครม.สัญจร จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 2ก.ค.2567 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานการประชุม ครม.สัญจร ณ หอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ต.มือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา 

ทั้งนี้ ที่ประชุมครม. ได้มีมติอนุมัติตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

1. นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)  

2. นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

3. นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

แหล่งข่าว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ จะมีการนำเสนอที่ประชุมครม. เพื่อขออนุมัติโยกย้ายข้าราชการทั้ง 3 คน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งการสลับตำแหน่งครั้งนี้ ถือเป็นการโยกย้ายกลางฤดูกาลของกระทรวงพลังงาน หลังจากที่ผ่านมาเพิ่งแต่งตั้งโยกย้ายครั้งใหญ่ช่วงปลายปี 2566 และเริ่มทำงานตำแหน่งใหม่อย่างเป็นทางการวันที่ 4 ม.ค. 2567 

จากกระแสการปรับเปลี่ยนตำแหน่งดังกล่าว หลัก ๆ ที่ได้รับฟังมาจะเป็นเรื่องของการเร่งทำแผนพลังงานชาติ ซึ่งต้องผนึก 5 แผนเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP

3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) แต่ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ที่จะกลับมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เคยเป็นผู้เริ่มทำทำแผนดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนวันนำเสนอรายชื่อเข้าครม.เพียงวันเดียว นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เตรียมเรียกประชุมเพื่อทำความเข้าใจและศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงสร้างไฟฟ้าตามภาพรวมของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) โดยเฉพาะการปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ 29% จะเหลือ 17% หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนฯ ปี 2580 

ทั้งนี้ โดยจะต้องไปทบทวนและดูรูปแบบให้เป็นไปตามแผนอย่างเหมาะสม ซึ่งต้องดูถึงความสามารถในการลงทุนของ กฟผ. ด้วย แต่ยังมั่นใจว่า กฟผ.จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะส่งเสริมความมั่นคงให้กับไฟฟ้าของประเทศได้อยู่ ซึ่งแผน PDP ฉบับใหม่ ส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องผลิตจากอะไรแต่ขอให้เป็นพลังงานสะอาด 

ซึ่งประเทศไทยมีความแข็งแกร่งจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งก็จะเร่งการส่งเสริมในด้านนั้น และต้องยอมรับว่าจากพลังงานน้ำ ยังไม่มีความ สามารถเพียงพอที่จะผลักดันให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ยังไม่เพียงพอ

แหล่งข่าว กล่าว่า การที่นายพีระพันธุ์ ปรับเปลี่ยนตำแหน่งใหญ่อีกครั้ง โดยให้นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท กลับมานั่งตำแหน่ง ผอ.สนพ. อีกครั้งนั้นก็อาจจะเห็นว่าเป็นผู้ทำแผนพลังงานชาติตั้งแต่ต้นก็เป็นไปได้ แต่จริงๆ แล้วความรู้ความสามารถของนายวีรพัฒน์ ก็ใช่ว่าจะไม่มากพอ ถือเป็นผู้บริหารที่เก่งและไฟแรงอีกคนหนึ่งในกระทรวงพลังงาน

"สิ่งที่ต้องจับตาอีกที่คือ พพ. ที่ต้องปรับนโยบายใหม่อีกครั้งภายหลังนายวัฒนพงษ์ เข้าบริหารงานและเริ่มที่จะเข้าที่เข้าทางแต่ก็ต้องมีการปรับอธิบดีใหม่ จึงต้องมารอดูว่า นางสาวนันธิกา ซึ่งต้องไปนั่งบริหารงานใกล้ชิดกับนายพีระพันธุ์ที่บ้านพิบูลธรรมจะดำเนินนโยบายได้ตรงใจกับแนวความของรมว.หรือไม่" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ ก็ต้องให้กำลังใจนายวัฒนพงษ์ เช่นกันที่ต้องมาลุยแผนพลังงานชาติ ต่อตามเป้าหมายเดิมที่ว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในเดือนก.ย. 2567 ว่าจะเสร็จทันและตรงตามใจของนายพีระพันธุ์หรือไม่ ซึ่งกรอบเวลาตรงนี้ก็อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้นายพีระพันธุ์รีบโยกย้ายตำแหน่งครั้งใหญ่เพียงแค่ 6 เดือน และไม่รอเข้าสู่ช่วงเกษียณราชการปี 2567 นี้

"สิ่งที่วุ่นวายอีกอย่างของการโยกย้ายตำแหน่งคือการที่อธิบดีกรมต่างๆ จะต้องลาออกจากบอร์ดบริหาร เช่น นายวัฒนพงษ์ จะต้องลาออกจากบอร์ด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพราะการดำเนินงานด้านนโยบายของสนพ.ถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างปตท.ด้วย เป็นต้น" แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายเมื่อปลายปี 2566  และมีผลเป็นทางการวันที่ 4 ม.ค. 2567 คือ  

1. น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

2. นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

3.นายวรากร พรหโมบล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

4. นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

5. นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

6.นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน