‘เศรษฐา’ เอาจริง ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ สั่งเร่งทำความเข้าใจประชาชน

‘เศรษฐา’ เอาจริง ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ สั่งเร่งทำความเข้าใจประชาชน

นายกฯ ย้ำรัฐบาลเร่งขับเคลื่อนประเทศ ชี้บางนโยบายต้องร่วมตัดสินใจทุกฝ่าย ยกตัวอย่าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” สั่งเร่งทำความเข้าใจประชาชน ด้านกระทรวงพลังงาน ระบุ แผน PDP ฉบับใหม่บรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR ในช่วงปลายแผนก่อนปี 2580

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของนายกฯ ผ่านรายการ “คุยกับเศรษฐา” เป็นเทปแรก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ดำเนินรายการโดยนายธีรัตถ์ รัตนเสวี เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2567 

ส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ นายเศรษฐา กล่าวถึงการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่า การทำงานมีหลายเรื่องไม่ใช่ตัดสินใจคนเดียวได้ โดยมีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล, ฝ่ายตรวจสอบ, รัฐสภา , ข้าราชการ และ NGO ใช้คำว่าหลาย ๆ การริเริ่มอาจมีคนแย้งบ้าง เราก็ต้องทำประชาพิจารณ์ เป็นอะไรที่คนมีข้อกังขาเช่นกัน 

นายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่าง มีผู้บ่นเรื่องค่าไฟแพงในขณะที่ค่าไฟที่ถูกที่สุด คือ พลังงานนิวเคลียร์ โดยทุกคนอยากได้หมด แต่อย่ามาอยู่บ้านฉันนะไปอยู่บ้านคนอื่นแล้วกัน 

“ผมก็เริ่มค้นคว้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่านี่คือเรื่องที่เราดูอยู่” นายเศรษฐา กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ยืนยันว่าประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเตรียมแผนการศึกษาสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยนายเศรษฐา ระบุบนเวที Thailand Energy Executive Forum จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ว่า แม้ตอนนี้ไทยจะไม่มีแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่หลายประเทศได้มีเทคโนโลยีทั้งสหภาพยุโรป (EU) ฝรั่งเศส และจีน ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้และเก็บข้อมูลเพื่อที่ในอนาคตหากต้องตัดสินใจจะตัดสินใจได้ถูกต้อง   

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) รักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย จากแผนเดิม (PDP 2018) โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย

 ทั้งนี้ ในร่างแผนPDP 2024 ได้กำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นแต่ถือว่าไม่มากเพราะมีการพึ่งพาเทคโนโลยีไฟฟ้าที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง กระจายต้นทุน ทั้งพลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล (SMR) ภายใต้ 3 เงื่อนไขสำคัญที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ คือ 

1.ความมั่นคงทางไฟฟ้า 

2.ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3.ควบคุมต้นทุนค่าไฟให้มากที่สุด

สำหรับการกำหนดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ถือเป็นทางเลือกเพื่อรักษาความมั่นคง เพราะด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนใช้พื้นที่เล็กลง ความปลอดภัยสูง ทุกประเทศมองเป็นทางเลือกสำคัญ ซึ่งกรุงเทพธุรกิจรายงานว่าในแผนจะมีขนาดเบื้องต้นที่ 600 เมกะวัตต์ จะเข้ามาช่วงปลายแผน เนื่องจากก่อนเปิดให้มีอย่างจริงจังจะต้องมีขั้นตอนของการขออนุญาตลงทุน 

รวมถึงการทำกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความปลอดภัย โดยขณะนี้ ประเทศพัฒนาแล้ว ได้นำพลังงานนิวเคลียร์กลับมาเป็นทางเลือกหลักของการนำมาสู่พลังงานสะอาดมากขึ้นแล้ว