'ปูติน' จุดปมนิวเคลียร์ใหม่ ยังไม่ต้องใช้กับยูเครน แต่กับที่อื่นไม่แน่
ปูตินร่วมเวทีสัมมนาเศรษฐกิจส่งสัญญาณชัดเจนว่า 'สงครามรัสเซีย-ยูเครน' ที่เลวร้ายที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จะไม่บานปลายเข้าสู่ 'สงครามนิวเคลียร์' แต่กับสมรภูมิอื่นไม่แน่
ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าววานนี้ระหว่างเข้าร่วมเวทีสัมมนาเซนท์ปีเตอร์สเบิร์ก อินเตอร์แนชันนัล อีโคโนมิก ฟอรั่มว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อเอาชนะยูเครน ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนที่สุดจนถึงขณะนี้ว่า 'สงครามรัสเซีย-ยูเครน' ที่เลวร้ายที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จะไม่บานปลายเข้าสู่ 'สงครามนิวเคลียร์'
"การใช้จะเป็นไปได้เฉพาะในกรณีพิเศษ ในกรณีที่เป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ แต่ผมคิดว่ากรณีเช่นนี้ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น" ปูตินกล่าว
รอยเตอร์สระบุว่านับตั้งแต่เปิดฉากสงครามขึ้นในเดือน ก.พ. 2565 ปูตินเคยออกมา "ขู่" หลายครั้งว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์หากจำเป็นเพื่อปกป้องตนเอง
อย่างไรก็ตาม ปูตินได้นับรวมดินแดน "ไครเมีย" ที่ยึดมาจากยูเครนในปี 2557 และพื้นที่อีก 4 แคว้นจากยูเครนเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียในปัจจุบันด้วย ทำให้มีความเป็นไปได้ของการใช้นิวเคลียร์เพิ่มขึ้นหากยูเครนจะชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางตอนใต้เหล่านี้กลับคืน และที่ผ่านมายูเครนได้เพิ่มการโจมตีด้วยโดรนและขีปนาวุธใส่เป้าหมายรัสเซียหลายพื้นที่ รวมถึงในไครเมีย และประกาศว่าจะขับไล่ทหารรัสเซียออกไปจากดินแดนของตนเองให้ได้
ปูตินกล่าวด้วยว่า ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการนิวเคลียร์ (nuclear doctrine) ของตนเองที่มีการตั้งเงื่อนไขของการใช้งานนิวเคลียร์เอาไว้ และหากมีความจำเป็นรัสเซียก็อาจทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าจะยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องทำในขณะนี้ก็ตาม
ทั้งนี้ "รัสเซีย" และ "สหรัฐ" นับเป็นสองมหาอำนาจนิวเคลียร์ของโลกที่มีการถือครองอาวุธนิวเคลียร์ถึงเกือบ 90% ของที่มีทั้งหมดในโลก