‘สบน.’ เผย GBI-EM เพิ่มน้ำหนัก ‘บอนด์อินเดีย’ กระทบไทยไม่มาก

‘สบน.’ เผย GBI-EM เพิ่มน้ำหนัก ‘บอนด์อินเดีย’ กระทบไทยไม่มาก

สบน. ระบุความต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร่งเงินทุนต่างชาติไหลออกตลาดตราสารหนี้ไทย ชี้เพิ่มตราสารหนี้อินเดียในดัชนี GBI-EM ไม่ส่งผลต่อการเทขาย

จากกรณีที่ตราสารหนี้ของ “อินเดีย” ถูกรวมเข้าในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่ หรือ Government Bond Index-Emerging Markets (GBI-EM) ของ J.P. Morgan เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

โดยกระบวนการจะเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายในระยะเวลา 10 เดือน และทยอยเพิ่มน้ำหนักของตลาดตราสารหนี้อินเดีย เดือนละ 1% จนถึงระดับสูงสุดที่ 10% ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2568 ซึ่งรายงานบทวิเคราะห์ระบุว่า “ตลาดตราสารหนี้ไทย” เป็นตลาดในกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งในแง่ของ “ทุนไหลออก” และ “การถ่วงน้ำหนักดัชนี”

สบน.รับมีผลกระทบบอนด์ไทยแต่ไม่มาก

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การเพิ่มตราสารหนี้อินเดียเข้ามาในดัชนี จะส่งผลให้สัดส่วนการถ่วงน้ำหนักในดัชนีของตราสารหนี้ไทยลดลง และส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติทยอยลดการลงทุนในตราสารหนี้ไทย

ฐานตลาดบอนด์ในประเทศยังแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ดี ประเทศของเรายังมีฐานนักลงทุนในประเทศที่แข็งแกร่ง ทำให้เรายังสามารถระดมทุนจากสภาพคล่องในประเทศได้เพียงพอ และเนื่องจากการปรับน้ำหนักของดัชนีจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลา 10 เดือน จึงไม่น่ากังวลมากนัก

“ดังนั้น คาดว่าการเพิ่มตราสารหนี้อินเดียเข้ามาในดัชนีจะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเทขายใดๆ จากนักลงทุนต่างชาติในตลาด แต่จะเป็นการปรับสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันก็มีการดำเนินการอยู่แล้วเป็นปกติ”

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มลดสถานะการถือครองตราสารหนี้ไทยเกิดขึ้นตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในต่างประเทศเริ่มสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยและสถานการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่จนถึงในปัจจุบัน

ผลตอบแทนบอนด์สหรัฐฯ สูงกว่าเท่าตัว

โดย ณ ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 2.5% ในขณะที่ ประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐอเมริกากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.5% จึงทำให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ไทยจึงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่น

นักลงทุนต่างชาติจึงมีการโยกย้ายเงินทุนกลับไปลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าและส่งผลให้มีการไหลออกของเงินทุน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการลดสถานะการถือครองของนักลงทุนต่างชาติจะพบว่าเป็นการลดอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านการปล่อยให้ตราสารหนี้ครบกำหนดก่อนที่จะย้ายเงินกลับไปลงทุนในตราสารต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งอาจทำให้สภาพคล่องในประเทศลดน้อยลงแต่ไม่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน

สภาพคล่องในตลาดบอนด์เพียงพอ 

สำหรับในประเด็นความกังวลเรื่องของสภาพคล่องในการระดมทุน ที่จะมีการแข่งขันสูงขึ้น สบน. ได้เตรียมรับมือด้วยมีการใช้กลยุทธ์กระจายเครื่องมือการระดมทุนทั้งระยะสั้น กลาง ยาว ควบคู่กับการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ทำให้สามารถเข้าถึงนักลงทุนทุกกลุ่มและระดมทุนได้ครบตามความต้องการ และยังประสานงานกับ ธปท. อย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามสภาพคล่องซึ่งพบว่าในประเทศยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอต่อความต้องการระดมทุนของรัฐบาลและเอกชนตลาดอินเดียที่มีความน่าสนใจมากกว่าในเชิงเศรษฐกิจ