ความ "ตกต่ำ" ของอุตสาหกรรมรถยนต์ (ตอน 2)

ความ "ตกต่ำ" ของอุตสาหกรรมรถยนต์ (ตอน 2)

ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึงความตกต่ำของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ยอดการผลิตภายในประเทศลดลงอย่างน่าตกใจถึง 35.71% ในช่วง  ม.ค.-เม.ย.2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะถูกรถยนต์อีวีตีตลาด เพราะหากรวมยอดขายรถยนต์อีวีก็จะยังลดลงมากถึง 23.9% ในช่วงเดียวกัน

มีคำอธิบายว่า ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากนโยบายของ ธปท.ให้สถาบันการเงินปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม พร้อมกับคำพิพากษาของศาลคือ “คืนรถจบหนี้” 

ทำให้สถาบันการเงินปฏิเสธคำขอกู้สินเชื่อรถยนต์ใหม่ในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์คือ 20% และคำขอกู้สินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์เช่นกันคือ 30-40%

แต่ผมคิดว่ายังมีประเด็นอื่นที่ควรนำมาพิจารณาอีก ซึ่งจะมีผลอย่างมากในการมองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่จะไม่ได้สดใสในครึ่งหลังของปีนี้ตามที่หลายคนคาดการณ์

แนวคิดของผมนั้น จะหันมาดูงบดุล (balance sheet) ของประชาชน นอกจากการดูบัญชีกำไรขาดทุน (profit and loss) ซึ่งคล้ายคลึงกับการดูรายได้และรายจ่าย การดูงบดุลของประชาชนนั้นจะต้องพยายามประเมินว่าด้านซ้ายของบัญชี คือทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับด้านขวาคือหนี้สิน โดยที่ส่วนต่างคือ “ทุน” หรือ “ความมั่งคั่ง” (wealth) ของประชาชน

ทรัพย์สินของประชาชนส่วนใหญ่นั้น พอจะมองได้ว่า ได้แก่ บ้านและรถยนต์ หุ้นและการลงทุนต่างๆ นั้น จากสถิติเห็นได้ว่ามีน้อยคนที่ถือหุ้นหรือถือตราสารหนี้ แม้แต่การเป็นเจ้าของบ้านที่อยู่อาศัย คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถเอื้อมถึงได้

โดยมีการประเมินว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Y เกิดปี 2527-2539 ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง) ที่มีบ้านเป็นของตัวเองเพียง 57% ในช่วงหลังนี้ราคาบ้านไม่ได้ขยับเพิ่มมาก ยอดขายบ้านใหม่ก็ยังอืด ดังนั้น ผลต่อความมั่งคั่ง (wealth effect) จึงไม่น่าเป็นบวก แต่ข้อมูลตรงนี้มีไม่มากนักจึงไม่สามารถวิเคราะห์ไปได้ลึกซึ้งกว่านี้

แต่ข้อมูลรถยนต์นั้นมีอยู่พอประมาณ และผมเชื่อว่าเป็นแหล่งของสินทรัพย์ที่สะท้อนความมั่งคั่งได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น

ปัจจุบันมีรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งสิ้น 20.4 ล้านคัน หากประเมินว่าราคารถยนต์ (รวมทั้งรถบรรทุก) ประมาณ 400,000 บาทต่อคัน ก็จะมีมูลค่ารวมมากถึง 8.16 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 43% ของจีดีพี

จึงน่าจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญต่อความมั่งคั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรถยนต์นั้นมีสภาพคล่องสูงสามารถซื้อ-ขายได้ง่าย และเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถนำไปใช้ในการเข้าถึงสินเชื่อได้โดยสะดวกที่สุดในบรรดาทรัพย์สินทั้งหมด

4 แสนบาทถือว่าน่าจะมีมูลค่าสูงมากสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ หากเปรียบเทียบกับข้อมูลบัญชีเงินฝากของประชาชน ซึ่งมีทั้งหมด 131 ล้านบัญชี (หรือประมาณ 3 บัญชีต่อประชากรผู้ใหญ่ 1 คน) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 16 ล้านล้านบาท

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ บัญชีที่มีเงินในบัญชี 100,000 บาทหรือต่ำกว่า มีทั้งหมดมากถึง 120 ล้านบัญชี (คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 92% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด) 

แปลว่าคนไทยเกือบทั้งหมดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งมูลค่าเงินที่อยู่ในบัญชีทั้งหมดมีเพียง 754,000 ล้านบาทและแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ 

1.มีเงิน 50,000 บาทต่อบัญชีหรือต่ำกว่า 116.4 ล้านบัญชี มูลค่ารวม 454,000 ล้านบาท หรือมีเงินในบัญชีเฉลี่ยเพียง 3,914 บาทต่อบัญชี

2.มีเงิน 50,000 ถึง 100,000 บาทต่อบัญชี 4.2 ล้านบัญชี มูลค่ารวม 300,000 ล้านบาท เฉลี่ยเท่ากับ 71,429 บาทต่อบัญชี

คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องขอสินเชื่อ หากต้องการจะซื้อรถยนต์หรือกำลังผ่อนรถยนต์อยู่ และรถยนต์น่าจะเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญมากต่อความมั่งคั่ง เพราะน่าจะคิดเป็นมูลค่าหลายเท่าของเงินสดที่มีอยู่ในบัญชี (รถยนต์สามารถนำไปขอสินเชื่อเพื่อใช้ในการบริหารสภาพคล่องได้โดยสะดวกที่สุด)

ความ \"ตกต่ำ\" ของอุตสาหกรรมรถยนต์ (ตอน 2) ที่น่าเป็นห่วงคือ ราคายนต์มือสองลดลงอย่างมาก เห็นได้จากตารางด้านบนซึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากธปท.

โดยดัชนีราคารถยนต์มือสอง ทั้งที่เป็นรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่มิถุนายน 2022 เป็นต้นไป โดยรวมราคาลดลง 25% ในช่วงดังกล่าว ซึ่งผมเชื่อว่า เป็นผลมาจาก นโยบายของธปท. การ “คืนรถจบหนี้” และสถาบันการเงิน ปฏิเสธคำขอกู้สินเชื่อรถยนต์ใหม่และรถยนต์ใช้แล้วในสัดส่วนที่สูงมาก

ความ \"ตกต่ำ\" ของอุตสาหกรรมรถยนต์ (ตอน 2)

ในช่วงใกล้เคียงกัน ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ (รวบรวมโดย ธปท.) ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 และไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า

- สินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้ซื้อรถยนต์ลดลงจาก 1.83 ล้านล้านบาท มาเป็น 1.81 ล้านล้านบาท 

- สัดส่วนสินเชื่อรถยนต์ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) หรือ หนี้ใกล้จะเสียเพิ่มขึ้นจาก 14.4% เป็น 14.5% 

- สัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 2.05% มาเป็น 2.14%

นอกจากนั้น หากไปดูหนี้ใกล้จะเสียและหนี้เสียสำหรับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ก็จะทำให้สามารถตั้งข้อสงสัยได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างไร หากงบดุลของประชาชนยังเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง และประชาชนจำนวนมากพบว่า ความมั่งคั่งของตัวเองลดลง (ยากจนลง)?